“ของหลวง” ไม่ใช่ “ของตน” ใช้เพียงเล็กน้อยอาจเกิดโทษมหาศาล

8 เม.ย. 67

“ของหลวง” ไม่ใช่ “ของตน” ใช้เพียงเล็กน้อยอาจเกิดโทษมหาศาล

รถหลวง คือ ของหลวงไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่ปัจจุบันมีหลายกรณีที่พบเจ้าหน้าที่ของรัฐนำเอารถหลวงไปใช้ประโยชน์ในเรื่องส่วนตัว ใช้รถอย่างเดียวไม่พอ บางกรณีมีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันกับส่วนราชการด้วย หนักไปกว่านั้นบางกรณีมีการนำรถหลวงไปใช้เอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิด เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง

เรื่องนี้ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเจ้าหน้ารัฐไม่ควรกระทำ เพราะถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง มีโทษถึงขั้นไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ

วันนี้รายการ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 2 EP. นี้ จะพาไปถอดบทเรียนถึงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ที่มาในรูปแบบของการนำรถหลวงหรือของหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

คดีตัวอย่างของข้าราชการที่นำรถหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้มีคำสั่งพิพากษานายรุ่งรัก ลูกบัว ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรกับพวก ในข้อหานำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ในการเดินทางไป - กลับระหว่างบ้านพักและที่ทำงาน และยังนำรถยนต์ของทางราชการใช้เดินทางไปตีกอล์ฟ กระทำเช่นนี้เป็นระยะเวลานานเกือบ 2 ปี

ศาลตัดสินว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ร้ายแรงก่อให้เกิดผลเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ได้รับโทษจำคุก 105 ปี แต่ด้วยจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่รูปคดี จึงคงเหลือโทษจำคุก 52 ปี 6 เดือน

คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างและเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ข้าราชการประจำส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่จะต้องสอดส่องดูแลการใช้รถยนต์ของราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย คือใช้ในราชการเท่านั้น หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนจะถือว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็อาจต้องถูกดำเนินคดีอย่างเช่นคดีนี้

636813

ปัญหาใหม่ในปัจจุบันคือการนำไฟหลวงมาใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัว

แม้ปัญหาการใช้รถหลวงเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นเรื่องยอดฮิตในบรรดาการใช้ของหลวงทั้งหมดก็จริง แต่ปัญหาใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมาคือการใช้ไฟหลวง มีข้าราชการนำรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวมาชาร์จไฟฟ้าของราชการ ซึ่งกำลังเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด

ทีมงาน SPOTLIGHT Anti Corruption ได้พูดคุยกับทางเพจเฟสบุ๊คปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้ทราบว่าในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ทางเพจได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ ปัญหาการใช้ไฟหลวงเพื่อชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาหลายเรื่อง

โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 กรณีข้าราชการสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครนายก นำรถหรู plug-in hybrid เสียบชาร์จไฟหลวงที่สำนักงานเป็นประจำ และในปี 2566 มีอีกหลายกรณี

ตัวอย่างเช่น ข้าราชการตำแหน่งเลขาหัวหน้าศูนย์สนับสนุน สังกัดสำนักงานประกันสังคม จ.ยะลา เข้าช่วยงาน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้จัดทำสถานีชาร์จ EV Charging Station ใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเฉพาะส่วนบุคคล ซึ่งติดตั้งในพื้นที่ของสำนักงาน โดยไม่มีการชำระค่าบริการไฟฟ้า และอีกกรณีเหตุเกิดที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี สังกัด กฟผ. หัวหน้าแผนกเดินเครื่อง ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ต่อสายปลั๊กพ่วงเสียบชาร์จไฟที่อาคารผลิตน้ำ และนายช่างระดับ 8 เปิดหน้าต่างต่อสายพ่วงไฟออกมาจากห้องสำนักงานเพื่อชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปัญหาทั้งหมดนี้กำลังเริ่มก่อตัวและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น

633546

บทลงโทษการนำของหลวงมาใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา

สํานักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ให้ข้อมูลว่ากรณีเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบนำรถยนต์ราชการหรือรถหลวงไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือการนำไฟฟ้าของหลวงมาใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวนั้น ถือว่า มีความผิดทางวินัยและตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ที่ระบุว่า

ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

และมาตรา 334 ระบุว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

โดยคดีรถหลวงข้อกฎหมายที่ถูกตัดสินจะมี 2 มาตราสำคัญ คือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ส่วน คดีนำรถยนต์ส่วนตัวไปชาร์จไฟหลวง ข้อกฎหมาย จะมี 4 มาตราหลัก ในกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 , 334 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันถึงสองกรณี ระหว่างเรื่องของการใช้รถหลวงกับการนำรถยนต์ส่วนตัวมาชาร์จไฟหลวงนั้น บทลงโทษของการนำรถหลวงมาใช้จะมีความหนักกว่าเพราะการใช้รถหลวงมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ทำให้รัฐเสียหาย เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมโทรมสึกหรอ หรือค่าเปลี่ยนถ่ายของเหลวต่างๆในรถ ถือเป็นเรื่องการเบียดบังยักยอก โดยบทลงโทษของผู้ถูกกล่าวหาในคดีเหล่านี้บางรายถูกลงโทษจำคุกทันที บางรายได้รับการรอลงอาญา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในพฤติการณ์การกระทำความผิดในแต่ละคดี

quoteep.1

แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

แม้บทลงโทษตามกฎหมายจะดูรุนแรง แต่การดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชันในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นต้องมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้รักษากฎหมายต้องให้ความสำคัญกับกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งกฎหมายต้องมีความทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีและการเก็บข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำมาใช้ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการดำเนินคดีและลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรม เพื่อให้สังคมเกิดความเกรงกลัวต่อการทุจริตคอร์รัปชัน

แนวโน้มของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการใช้รถหลวงหรือของหลวงนั้นเกิดจากการขาดจิตสำนึกทางด้านคุณธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของข้าราชการ รวมถึงการขาดระบบการควบคุมภายในที่ดีของหน่วยงาน ทำให้บุคลากรซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงสามารถใช้ช่องโหว่ของการเป็นผู้อนุมัติมากระทำการทุจริตคอร์รัปชัน

ซึ่งทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่ตัวเจ้าหน้ารัฐเอง ควรพึงตระหนักเสมอว่าทรัพย์สินของรัฐ ต้องใช้ไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ การจะใช้ทรัพย์สินของรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง แม้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมที่ส่อแววทุจริตที่เจ้าหน้ารัฐไม่ควรกระทำ และประชาชนทั่วไปต้องคอยเป็นกระบอกเสียงเมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมดังกล่าวต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้จัดการตรวจสอบ

865014

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม