ดีเอสไอ สนธิกำลังกรมการปกครอง รวบแก๊งหลอกทำบัตรประชาชนปลอม

22 พ.ย. 66

 

ดีเอสไอ สนธิกำลังกรมการปกครอง จับแก๊งหลอกลวงเปิดเพจเฟซบุ๊กรับทำบัตรประชาชนปลอม แถมใช้รูปปลัดมหาดไทยสร้างความน่าเชื่อถือ 

จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พบกลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์ประกาศโฆษณารับทำบัตรประชาชนออนไลน์บนเฟซบุ๊ก ให้กับบุคคลที่ไม่สามารถทำบัตรประชาชนในระบบปกติของราชการได้ ในราคาใบละ 20,000 - 30,000 บาท แต่จะมีการเรียกเก็บค่าดำเนินการเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเป็นค่าอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้เสียหายแต่ละรายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 50,000 - 70,000 บาท แต่สุดท้ายไม่ได้รับบัตรประชาชนฉบับจริงแต่อย่างใด 

เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนมากที่มีลักษณะที่ผิดปกติ ในระยะวันที่ 1 ม.ค. 66 - ปัจจุบัน ยอดเงินหมุนเวียนประมาณ 300 ล้านบาท มีการโอนเงินต่อเป็นทอดๆ ปลายทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อนำเงินออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 พ.ย. 66 ที่ห้องแถลงข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถ.แจ้งวัฒนะ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสมชัย เลิศประสิทธิพัน รอง อธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายปกครองท้องที่ และนายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมผู้ร่วมขบวนการแอบอ้างกระทรวงมหาดไทย หลอกทำบัตรประชาชน 

พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า เคสนี้มีการแอบอ้างกระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้เกี่ยวข้อง มีการเปิดเฟซบุ๊ก "ลงทะเบียนเปิดรับสิทธิทำบัตร" อ้างว่าสามารถทำบัตรประชาชนให้กับบุคคลที่ต้องการบัตรประชาชนไทย แต่ไม่สามารถทำผ่านระบบราชการปกติได้ โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวได้นำรูปของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาแอบอ้างบนหน้าเพจดังกล่าว ซึ่งกลุ่มที่ถูกหลอกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มบุคคลต่างด้าวที่มีความประสงค์ที่จะได้บัตรประชาชนหรือสัญชาติ เพื่ออยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายในอัตรา 30,000 - 50,000 บาท กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มมิจฉาชีพทึ่ต้องการนำบัตรประชาชนปลอมไปใช้ในการก่ออาชญากรรมอย่างอื่นเช่นนำไปเช่าซื่อรถ แล้วนำไปขายต่อ ที่สำคัญบัตรประชาชนปลอมส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง ในเรื่องของการฟอกเงินเครือข่ายค้ายาเสพติด หรือแม้กระทั่งการก่อการร้าย 

พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนมากที่มีลักษณะที่ผิดปกติ ในห้วงระยะวันที่ 1 มกราคม 2566 - ปัจจุบัน ยอดเงินหมุนเวียนประมาณ 300 ล้านบาท มีการโอนเงินต่อเป็นทอดๆ ก่อนจะนำเงินออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบขบวนการนี้มีการเปิดบัญชีไว้จำนวน 10 บัญชี มีเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท มีการออกหมายจับ 4 คน จับกุมไปแล้วจำนวน 3 คน อยู่ระหว่างหลบหนีอีก 1 คน ซึ่งอยู่ระหว่างติดตามตัว 

ด้านนายสมชัย ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ฝากเตือนพี่น้องประชาชนเรื่องการทำบัตรประชาชนจะต้องไปแสดงตัวต่อทางเจ้าหน้าที่เท่านั้น การที่จะทำบัตรผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ อย่าหลงเชื่อ

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส