จับตา “ภูมิใจไทย” ตัวจริงกำหนดโฉมหน้ารัฐบาลใหม่  

17 เม.ย. 66

 

ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรการเมือง หลังการเลือกตั้ง 2566 จับตา “ภูมิใจไทย” ตัวจริงกำหนดโฉมหน้ารัฐบาลใหม่

วันที่ 17 เม.ย. 66 ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรการเมือง หลังการเลือกตั้ง 2566 ว่าตอนนี้ต้องมาดูว่า พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส.เท่าไร กรณีได้ ส.ส.ถึง 220 เสียง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะไปจับมือกับพรรคขั้วเดียวกัน และไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ  โดยสูตรนี้จะไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ในสมการ

แต่มองว่า ตัวพรรคก้าวไกลอาจจะแสดงสปีริตร่วมโหวตชื่อนายกรัฐมนตรีให้ฝ่ายนี้ เพื่อปิดสวิตซ์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมโหวต และจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไป สูตรนี้ประเมินว่าจะมีคะแนนเสียงรวมกันที่ 340 เสียง

ดร.สติธร กล่าวต่อว่า แต่หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนไม่ถึง 220 เสียงขึ้นไป จะเป็นโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลุกขึ้นมาสู้กันที โดยชั้นแรก พรรครวมไทย สร้างชาติ ต้องได้เสียงมากกว่า 25 เสียง ซึ่งคิดว่า ทำได้ และน่าจะไปถึง 40 เสียง  จะเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 คือ การเสนอนายกรัฐมนตรีในสภาฯ จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือจะต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 25 คน

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ไปจนถึงเปิดการเจรจากับกลุ่มบ้านใหญ่ ที่โดยธรรมชาติ ต้องการเป็นรัฐบาล ไปจนถึงการไปเจรจา  ส.ส.ในอีกขั้วหนึ่ง ทีนี้ ก็จะรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง

“จะเห็นว่า ทุกสมการต้องมีพรรคภูมิใจไทย อยู่ในนั้นด้วย ถ้าภูมิใจไทย เลือกอยู่ข้างไหน ข้างนั้นมีโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลสูง แต่ถ้าดูจากประสบการณ์ โอกาสที่จะได้รัฐบาลเดิมนั้น มากกว่าเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทุ่มให้พรรคภูมิใจไทยขนาดไหน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม ที่เป็นกระทรวงเกรดเอ ถามว่าพรรคเพื่อไทย จะยอมทำได้แบบนั้นหรือไม่” ดร.สติธร กล่าว

advertisement

ข่าวยอดนิยม