ธุรกิจการตลาด

"วัคซีนมะเร็ง" เป็นไปได้จริงหรือ? ไบออนเทค ยืนยัน อาจใช้ได้ภายใน 2030

18 ต.ค. 65
"วัคซีนมะเร็ง" เป็นไปได้จริงหรือ? ไบออนเทค ยืนยัน อาจใช้ได้ภายใน 2030

ยักษ์ mRNA จากเยอรมนี "ไบออนเทค" เผย อาจใช้เทคโนโลยี mRNA วัคซีนโควิด ไปใช้กับ "มะเร็ง" ได้ด้วย เร่งวิจัย คาดผลิตใช้ได้จริงภายในปี 2030

 

แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น จะทำให้เราสามารถคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคต่างๆ จนทำให้คนในยุคปัจจุบันมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่ก็ยังมีโรคอีกหลายตัวที่ยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนและยารักษาได้ หนึ่งในนั้นก็คือ "มะเร็ง"

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า มะเร็งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากที่สุดในแต่ละปี โดยอยู่ที่เกือบ 10 ล้านคน ในปี 2020 หรือมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเกือบ 1 คน ในทุกๆ 6 คน นำโดยมะเร็งทรวงอก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก 

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ล่าสุดที่มีการคิดค้นวัคซีน mRNA ออกมาต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ ก็ช่วยปลุกความหวังของการพัฒนา "วัคซีนมะเร็ง" ขึ้นมาอีกครั้งว่า เทคโนโลยี mRNA อาจนำมาใช้ทำลายเซลล์มะเร็งได้

อูกูร์ ซาฮิน และ ดร.โอซเลม ตูเรชี สองสามีภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีนโควิด-19 ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไบออนเทค (BioNTech) บริษัทยารายใหญ่จากเยอรมนีที่ร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) คิดค้นและผลิตวัคซีน mRNA ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ว่า อาจคิดค้นวัคซีนรักษาโรคมะเร็งออกมาใช้ได้จริงก่อนสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายในปี 2030 

อูกูร์ ซาฮิน และ ดร.โอซเลม ตูเรชี ผู้ร่วมก่อตั้งไบออนเทค

ทั้งคู่ระบุว่า กระบวนการในเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวัคซีนโควิด-19 นั้น สามารถนำมาใช้ในอีกวัตถุประสงค์ได้ เพื่อเตรียมระบบภูมิคุ้มกันให้พร้อมสำหรับการโจมตีเซลล์มะเร็ง ซึ่งการค้นพบความก้าวหน้านี้นี่เอง ที่ทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถผลิตวัคซีนมะเร็งได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยคาดว่าอาจพร้อมใช้ก่อนปี 2030 (พ.ศ. 2573)

ทั้งนี้ วัคซีน mRNA สำหรับรักษาโควิด-19 นั้น เป็นการนำส่งสารพันธุกรรมรวมถึงไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เพื่อให้ร่างกายสร้างโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส COVID-19 ต่อไป 

ดร.ตูเรซี ซึ่งยังเป็นหัวหน้าคณะแพทย์ของไบออนเทค กล่าวว่า วิธีเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้เพื่อเตรียมระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งได้ด้วย ขณะที่ไบออนเทคนั้น เดิมทีกำลังทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมะเร็ง mRNA อยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด ซึ่งทำให้บริษัทต้องปรับมาผลิตวัคซีนโควิดแทน

advertisement

SPOTLIGHT