ธุรกิจการตลาด

อีลอน มัสก์ แค่ "ปั่น" หรือจะ "เปลี่ยน" ให้ Twitter เป็น WeChat?

6 ต.ค. 65
อีลอน มัสก์ แค่ "ปั่น" หรือจะ "เปลี่ยน" ให้ Twitter เป็น WeChat?

เจ้าพ่อ Tesla กลับลำบอกว่าจะซื้อ Twitter ในราคาเดิมที่ตกลงกันไว้ ขณะที่สื่อจับตาว่าอาจมีแผนเตรียมปั้นให้เป็นซูเปอร์แอป เหมือน WeChat ในจีน

กลับไปกลับมาเก่งจนขึ้นชื่อว่าเป็น "เจ้าพ่อแห่งการปั่น" ไปแล้วสำหรับ อีลอน มัสก์ ซีอีโอคนดังแห่ง Tesla ที่คราวนี้กลับลำมาบอกว่าตกลงจะเข้าซื้อบริษัท Twitter แล้ว ในราคาเดิมหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์ หรือมูลค่ารว 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) ตามที่เคยตกลงกันไว้

แต่คราวนี้สื่อไม่ได้จับตาที่ประเด็นเดิมว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ อีกต่อไปแล้ว แต่มองไปข้างหน้ายาวๆ เลยว่า Twitter ในกำมือของอีลอน มัสก์ จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

และตอนนี้ สื่อกลุ่มหนึ่งเช่น สำนักข่าว Bloomberg ก็จับตาว่า มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่มัสก์จะเปลี่ยนโฉม Twitter ให้เป็น "ซูเปอร์แอปพลิเคชัน" แบบเดียวกับ WeChat จากจีน!

อย่าเพิ่งบอกว่าเป็นไปไม่ได้ มันเป็นแพลตฟอร์มคนละประเภทกัน จะเปลี่ยนไปขนาดนั้นได้อย่างไร? เปลี่ยนได้ถ้าคนอย่างอีลอน มัสก์ คิดจะเปลี่ยน

บลูมเบิร์กรายงานว่าหลังจากที่ตกลงซื้อทวิตเตอร์ในช่วงแรก มัสก์เคยทวีตถึงสิ่งที่เรียกว่า "X" โดยระบุถึงสั้นๆ ว่าเป็น "แอปฯ ที่มีทุกสิ่งอย่าง" (everything app) แม้จะไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจน แต่ถ้าติดตามจากคอมเมนต์ก่อนๆ ของมัสก์จะรู้ว่า เขาเคยชื่นชมแอปฯ ของฝั่งจีนอย่าง WeChat อย่างชัดเจน และอาจเป็นไปได้ที่จะปรับโฉมทวิตเตอร์ให้กลายเป็นแอปฯ สารพัดสิ่งเหมือนของฝั่งจีน

 

WeChat คืออะไร?

3-3

WeChat คือแอปพลิเคชั่นที่เราเรียกว่า Super App หรือ Everyday App ซึ่งหมายถึงแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกบริการ รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน มีฟีเจอร์มากมายที่สามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่างภายในแอปเดียว โดยไม่ต้องออกจากแอปไปใช้บริการแอปฯอื่น เช่น จ่ายบิล ซื้อของ สั่งอาหาร และมีความต้องการให้ผู้ใช้งาน log-in เข้ามาเพื่อใช้งานเป็นประจำทุกวัน 

และ WeChat ก็คือซูเปอร์แอปยอดนิยมเบอร์ 1 ในจีน ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี Tencent ของมหาเศรษฐี หม่าฮั่วเถิง WeChat ให้บริการครอบคลุมแทบจะทุกอย่างตั้งแต่ แชท โซเชียลมีเดีย ระบบชำระเงิน โทรศัพท์และวิดีโอคอล ระบบคูปองและบัตรสมาชิก เรียกรถรับส่ง ไปจนถึงบริการแปลภาษา จนขึ้นแท่นเป็นแอปเดียวในจีนที่มีผู้ใช้งานเกิน 1,000 ล้านคน   

สิ่งที่ทำให้ WeChat สามารถให้บริการได้มากมายล้านแปด เป็นเพราะการเปิดบ้านให้แอปพลิเคชันบุคคลที่ 3 ของบริษัทอื่นๆ มาร่วมติดตั้ง mini-program ในแอปเจ้าบ้านหลักของวีแชตได้ ทำให้วีแชตมีบริการเรียกรถของ Didi Chuxing และบริการอีกมากมายของบริษัทอื่นๆ ที่เข้าร่วมด้วย

 


Twitter จะเป็น WeChat?

mini-program1

แม้ว่ามัสก์จะไม่ได้ประกาศชัดเจน แต่สื่อก็จับสัญญาณได้ว่ามัสก์ต้องการให้ทวิตเตอร์มีความสารพัดประโยชน์มากขึ้น ในทิศทางเดียวกับ WeChat หรือ Tiktok ซึ่งอย่างหลังกำลังเป็นที่นิยมมากในสหรัฐ

บลูมเบิร์กได้ลองยกตัวอย่าง 5 ฟีเจอร์ใน WeChat ที่อาจเป็นเท็มเพลตให้มัสก์ใช้ในการพัฒนา Twitter ต่อไป ดังนี้ 

  • แอปที่เป็นมากกว่าโซเชียลมีเดีย: วีแชตไม่ได้มีไว้แค่แชตและโพสต์รูป แต่คนยังใช้เพื่อเรียกรถโดยสาร จองร้านอาหาร สั่งอาหารเดลิเวอรี

  • เป็นยักษ์ใหญ่ฟินเทค: ชาวจีนให้ WeChat Pay ชำระเงินค่าบริการต่างๆ และมีกระทั่งกู้ยืมเงินได้ด้วย เรียกว่าเป็นระบบชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในจีน เป็นรองเพียงแค่ Alipay ของแจ๊ค หม่า เท่านั้น

  • เป็นแอปข่าวสารและความบันเทิง: เพราะคนยุคใหม่ไม่ได้เสพข่าวจากเว็บ/แอปข่าว แต่อ่านข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ไม่ว่าจะที่สหรัฐหรือจีนเองก็ตาม

  • ภาคธุรกิจก็ยังใช้: mini-program เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ มาร่วมพัฒนาบริการ ซึ่งในปี 2021 ที่ผ่านมา ธุรกิจในส่วนนี้เติบโตถึง 12.5% มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ และมีผู้ใช้งานถึง 450 ล้านคน

  • สรุปแล้วครบเครื่องทุกอย่าง: เรียกว่าเป็นบริการแบบ all-in-one ที่รวม Facebook, Twitter, Uber, Instagram Subtrack และอีกหลายแอปเข้าไว้ด้วยกันในที่เดียว

 

 

แต่ซุเปอร์แอปอาจเกิดใน "อเมริกา" ได้ยาก

artboard1copy3_58

ยังไม่มีความชัดเจนว่ามัสก์จะเปลี่ยน Twitter ให้เป็นซูเปอร์แอปเหมือนของฝั่งจีน หรือไม่ เพราะในความเป็นจริงนั้น ซูเปอร์แอปเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในสหรัฐ เพราะหลายเหตุผลด้วยกัน

อย่างแรกคือ ในเอเชียนั้น ซูเปอร์แอปเกิดขึ้นมาเพื่อตอบรับผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีสมาร์ทโฟนคุณภาพสูง ทำให้ไม่สามารถรองรับแอปเยอะๆ 40-50 แอปได้ จึงเป็นช่องว่างและโอกาสให้ Tencent พัฒนาวีแชตขึ้นมาเป็นซูเปอร์แอปในช่วงปี 2017 แต่ในสหรัฐนั้น คนอเมริกันเคยชินกับการจัดการแอปเยอะๆ ในเครื่องอยู่แล้ว

อย่างที่สอง คือ ตลาดในเอเชียบางที่จะมีกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องแอปมาร์เก็ตเพลสที่เข้มงวด ทำให้แอปต้องดิ้นหนีพยายามหานวัตกรรมเพื่อให้บริการลูกค้าให้ได้ภายใต้ข้อจำกัด ทำให้เป็นสภาพการณ์ที่เกิดซูเปอร์แอปขึ้นมา ต่างจากในสหรัฐ

อย่างที่สาม คือ ผู้บริโภคจำนวนมากในเอเชียไม่สามารถเข้าถึงแบงก์ได้ ทำให้เกิดฟินเทคเฟื่องฟู และต่อยอดไปสู่ซูเปอร์แอป

อย่างสุดท้าย แต่สำคัญที่สุดก็คือ การยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในเอเชียนั้นผู้บริโภคจะยอมแลกมาเพื่อความสะดวกสบายผ่านซูเปอร์แอป แต่ไม่ใช่ในสหรัฐและยุโรปที่มีกฎระเบียบความเข้มงวดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลมาก

 

ดูทรงแล้วทวิตเตอร์ในยุคของอีลอน มัสก์ อาจไปไม่ถึงการเป็นซูเปอร์แอปเหมือนอย่างในจีนได้ง่ายๆ แต่อย่างน้อยที่สุด เจ้าตัวก็ส่งสัญญาณแล้วว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่ๆ และจะแน่นอนกว่านั้นถ้ามีดีลซื้อทวิตเตอร์เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในยุคที่อะไรก็เปลี่ยนไปได้เสมอกับเจ้าพ่อจอมปั่นอีลอน มัสก์  

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT