ความยั่งยืน

One Bangkok พร้อมเปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน

2 ต.ค. 67
One Bangkok พร้อมเปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน

One Bangkok พร้อมเปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน ชี้ 5 หลักใหญ่ที่ท้าทายทุกคนให้บรรลุเป้าหมาย เล็งเชื่อมต่อเมืองกับคนให้รวมกัน สร้างโครงข่ายการเดินเท้าลดการปล่อยคาร์บอนให้สมกับเป็น Green Sustainable

ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งาน Sustainability Expo 2024 จึงมีการพูดถึงหัวข้อ Time to CHANGE : Shaping Bangkok's Future เปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน ผ่านมุมมองของ คุณวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) และคุณศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้และช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองหลวงของเรา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

sx_14376_0_1

คุณวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) เผยว่า ความท้าทายที่เจอกันอยู่ทุกวันตอนนี้ไม่ใช่ Global Warming แต่มันคือ Global Warning โลกมาถึงจุดวิกฤติที่เราจะต้องเปลี่ยน ไม่ควรจะมีความร้อนมากขึ้น 1.5 องศา ซึ่งการที่โลกร้อนเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกับโลกถึงปีละ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 400 ครั้งต่อปี โดย 40% ของคาร์บอนบนโลกเกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากในส่วนของการก่อสร้าง ส่วนที่เหลือจะเกิดจากการประกอบกิจการ การเปลี่ยนแปลงของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยลดโลกร้อน

การพัฒนาเมืองเป็นการบุกรุกพื้นที่สีเขียว ทำให้เกิดการใช้คาร์บอนมากขึ้น เกิดเป็นป่าเมืองที่กลายเป็นภาระที่หนีไม่พ้น กรุงเทพมหานครถือเป็น เมกะซิตี้ (MegaCity) เป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ความหนาแน่นอยู่ที่ 6,000 คนต่อตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่ใช้เวลาในการเดินทางยาวนานเฉลี่ยนคนละ 65 นาทีต่อวัน นับเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และยังเป็นเมืองที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศอันดับ 9 ของโลก ปัญหาเหล่านี้จุดเริ่มต้นนอกจากตัวเราเองแล้ว ซึ่งสิ่งที่ยังขาดและต้องเพิ่มเติมคือ "พื้นที่สีเขียว" เพราะจะช่วยเป็นปอดให้กับเมือง ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 7.8 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่ WHO มองว่าอย่างน้อยควรจะอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์อยู่ที่ 60 ตารางเมตรต่อคน โตเกียวอยู่ที่ 30 ตารางเมตรต่อคน ซึ่ง กทม.ก็ได้เริ่มแก้ไขเรื่องนี้แล้ว

ภาครัฐมีการลงทุนในเรื่องระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน มีระบบรางความยาวรวมกัน 320 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ คือเราไม่แพ้ใคร แต่มีคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะแค่ 1.8 ล้านคน เทียบกับนิวยอร์กที่สูงถึงวันละ 5 ล้านคน วันนี้ตนมองว่า 5 หลักใหญ่ที่ท้าทายให้ทุกคนได้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ได้แก่ เรื่องนโยบายและกฎเกณฑ์ การออกแบบและการวางผังเมือง เรื่องของคนคือหัวใจสำคัญ ความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และแนวปฏิบัติการสร้างอาคารสีเขียว

sx_14394_0_1

นโยบายและกฎเกณฑ์ รัฐควรมีการวางแผนนโยบายตั้งแต่การเชื่อมต่อกับระบบการเดินทาง มีการรีไซเคิลวัสดุในระบบการก่อสร้างอาคาร เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน การจัดพื้นที่สีเขียว ซึ่ง One Bangkok มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นสาธารณะให้ผู้คนได้เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้การปรับปรุงกฎหมายอาคารให้ทันสมัยก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะยังเป็นกฎหมายที่ตราไว้ตั้งแต่ปี 2522 โดย ณ เวลานั้นตึกที่สูงสุดของกรุงเทพฯ คือ 26 ชั้น หรือประมาณ 90 เมตร แต่ปัจจุบันตึกที่สูงที่สุดของกรุงเทพฯ อยู่ที่ความสูง 320 เมตร แต่ยังใช้กฎหมายเดียวกันในการควบคุม ซึ่งกฎหมายที่มีการปรับปรุงช้าทำให้ส่งผลกระทบตามมา ยกตัวอย่างเช่น One Bangkok มีพื้นที่การก่อสร้างรวม 1,830,721 ตารางเมตร ตามกฎหมายปี 2522 จะต้องสร้างพื้นที่จอดรถ 12,000 คัน รวมพื้นที่จอดรถคือ 421,750 ตารางเมตร เมื่อเทียบกับตึกใหญ่ๆ ที่มีพื้นที่พอกัน เช่น The Hudson Yrads ในนครนิวยอร์ก มีพื้นที่จอดรถแค่ 45,500 ตารางเมตร ส่วน Ropping Hill ในโตเกียวพื้นที่จอดรถ 96,000 ตารางเมตร ซึ่งต่างกับ One Bangkok มากๆ ในมุมมองเศรษฐศาสตร์การสร้างที่จอดรถในกรุงเทพฯ ที่จอดรถเป็นส่วนที่ทำรายได้ให้น้อยที่สุด ใช้ต้นทุนไม่ต่ำกว่าการสร้างอาคาร ซึ่ง One Bangkok ใช้การจอดรถแบบใต้ดินซึ่งค่าก่อสร้างไม่แพ้การสร้างตึกสูงๆ เป็นไฟต์บังคับที่เราต้องทำเพราะกฎหมายเขียนเอาไว้ ข้อนี้ทำให้พื้นที่สีเขียวหายไป พื้นที่ผิวจราจรมีจำกัด เกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ตามมา

การออกแบบและการวางผังเมือง ต้องเป็นมิตรต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม One Bangkok มีการจัดวางพื้นที่ให้คนสามารถมาเดินรอบโครงการระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 15 นาที นอกจากนี้ยังมีการถ่วงน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง ช่วยลดภาระให้กับเมือง

คนคือหัวใจสำคัญ สิ่งที่จะช่วยบรรเทาหรือเยียวยาความเครียดได้ นอกจากพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังมีพื้นที่เกี่ยวกับศิลปะ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน การที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เช่น การลดคาร์บอน การบริหารจัดการขยะ ฯลฯ แนวปฏิบัติการสร้างอาคารสีเขียว มีเรื่องสมาร์ทซิตี้ ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อระบบต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีการลงทุนในส่วนของฮาร์ดแวร์ และรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน Change before you have to

sx_14442_0

คุณศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่ความยั่งยืน ควรเริ่มจากเทคโนโลยี ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนในการใช้ชีวิตประจำวัน และ One Bangkok ก็ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่คือ สามารถอยู่อาศัย ช็อปปิ้ง และทำงานได้ในที่เดียว ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ช่วยประหยัดเวลา

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) เปิดเผยว่า การสร้างเมืองแล้วเดินไม่ได้ถือว่าเสียหายเยอะ การเชื่อมต่อเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ โครงการ Skywalk ราชดำริ ภายใต้การฟื้นฟูย่านพระราม 4-ศาลาแดง-ราชดำริ-ราชประสงค์-ประตูน้ำ-มักกะสัน จึงมีความพยายามที่จะเชื่อมสถานที่ต่างๆ ในย่านนี้ตั้งแต่สีลมไปจนถึงมักกะสัน ทั้งโครงข่ายการเดินเท้า พื้นที่สีเขียวสาธารณะ ซึ่ง ณ เวลานี้ระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของ กทม.อยู่ 4.5 กิโลเมตร ใช้เวลา 60 นาที เริ่มจากสีลมที่มีการปรับปรุงทางเท้าแล้ว ช่วยการลดคาร์บอนเพราะสามารถเชื่อมต่อสถานที่สำคัญ เช่น ออฟฟิศ หรือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยบริเวณนี้มีการขาดช่วงในเรื่องของโครงข่ายเดินเท้า ซึ่งหากมีการร่วมมือกันกับ One Bangkok ก็จะสามารถช่วยยกระดับการเป็นพื้นที่แห่ง Green Sustainable ได้ และช่วยทำให้คนกรุงเทพฯ มีทางเดินเท้าที่เชื่อมต่อกันและยังปลอดภัยด้วย หากกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงและให้ความสำคัญกับเรื่องโครงข่ายทางเท้า Walk Score ที่เคยได้ต่ำกว่า 50 ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 75 และยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากการใช้รถอีกด้วย

sx_14408_0_1

คุณวรวรรต ศรีสอ้าน กล่าวเสริมปิดท้ายว่า การที่เรามีเมืองที่เดินได้เป็นเรื่องสำคัญ การเชื่อมต่อ One Bangkok กับสวนลุมพินี และทางเท้าต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกับทางกรุงเทพมหานคร และทาง One Bangkok พร้อมที่จะร่วมศึกษากับทาง UddC-CEUS เพื่อพัฒนาเมืองของเราให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง UddC-CEUS เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของเมืองและประเทศ ซึ่งควรเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องกฎหมายที่ยังเป็นกฎหมายเมื่อ 45 ปีก่อนนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการก็ต้องทำตาม แต่เราก็ต้องมองอนาคตของเราเหมือนกัน เราต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับอนาคตได้ และต้องคิดให้ครบทุกมุมกับโครงการที่จะต้องอยู่กับสังคมไปอีกยาวๆ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT