Carbon Neutrality หรือการบรรลุความสมดุลระหว่างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศกับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทน โดยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวของประชากรลงให้ได้ ร้อยละ 70 – 80 ภายในปี ค.ศ. 2050
เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ - บางจาก- เอสซีจี ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ฉลอง 60 ปี จัดสัมมนา “60 Years OF EXCELLENCE” วานนี้ (18 ก.ย.) เวที “The Future of sustainability growth” โดยให้ความสำคัญกับ Carbon Neutrality หรือการบรรลุความสมดุลระหว่างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศกับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทน
โดยคุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวในหัวข้อ Fireside Chat : The Future of Sustainabilliy Growth เวที “The Future of sustainability growth” ในงานสัมมนา TMA 60 YEARS of EXCELLENCE ว่า วัน แบงค็อก สร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและมุ่งมั่นในการก้าวสู่ระดับโลก โดยโครงการถูกพัฒนาขึ้น ให้สอดคล้องกับ Sustainable Development Goals: SDGs พร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาร่วมกับพันธมิตรอย่าง SCG มาเป็นเวลา 2 ปี ในการออกแบบคอนกรีตที่นำผงคอนกรีตที่ใช้แล้วมาทำ เพื่อช่วยลดคาร์บอนตั้งแต่วันแรกที่สร้างอาคาร ซึ่งเป้าหมายการ Carbon Neutrality นั้น ถือว่าเป็นความท้าทายที่มองว่าต้องมีพันธมิตร หรือการมีพาร์ทเนอร์เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสินค้าและบริการ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสินค้าและบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
“วัน แบงค็อก” ถือเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรใจกลางกรุงเทพฯ มีเจตนารมณ์ในการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์
“อนาคตที่ยั่งยืนเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ สู่โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อโลก การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงาน คือ การดึงพาร์ทเนอร์ในซัพพลายเชนเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อช่วยกันกำหนดมาตรฐานใหม่ พัฒนานวัตกรรมในสินค้าและบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
สำหรับเทรนด์ความยั่งยืนนั้น เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งได้ศึกษาจากเทรนด์โลกและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามเป้าหมายที่มีแผนการลงทุนใน 20ประเทศ ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ฯลฯ เพื่อให้สามารถลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)
คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ A Converastion on the Sustainable Future เวที “The Future of sustainability growth” ในงานสัมมนา TMA 60 YEARS of EXCELLENCE
“การลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำไม่เพียงแต่เป็นภาระผูกพันเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนอนาคตของเรา โดยกระตุ้นให้เราดึงดูดผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เข้าร่วมในการเดินทางสู่ความยั่งยืน”
ทั้งนี้ SCG มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขั้นแรก 25% หลังจากนั้นจะขยับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยหนึ่งในโครงการที่ได้ริเริ่มดำเนินการ คือ ลดการใช้ถ่านหิน โดยนำวัสดุชีวมวลมาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีใช้ทดแทนถ่านหิน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซไปได้ถึง 50% จากการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งยังลดอุณหภูมิในการผลิตปูนซีเมนต์ลงด้วย
โดย SCG มีความพยายามในการเปลี่ยนแหล่งพลังงาน เปลี่ยนเทคโนโลยร นำพลาสติกมารีไซเคิล แต่ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยให้คุณภาพของสินค้ามีความแข็งแรงใกล้เคียงกับของเดิม แต่ใช้คาร์บอนต่ำกว่าเดิม และจะทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาให้สินค้าและบริการมีต้นทุนที่ต่ำลง และลดการปล่อยคาร์บอนลงด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้สินค้าที่คาร์บอนต่ำได้ในราคาถูกลง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของความยั่งยืนในอนาคตของประเทศ
ในปัจจุบัน SCG ได้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคสามารถทำยอดขายได้ 70% จากการขายปูนซีเมนต์ในปัจจุบัน และนี่คือทิศทางการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจปูนในการมีส่วนร่วมลดคาร์บอน ซึ่งนี่คือจุดแข็งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องการใช้วัสดุชีวภาพเข้ามาเป็นส่วนหลักของการลดคาร์บอน ถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งสนับสนุน และภาคเอกชนต้องจับมือเป็นพันธมิตรในการผลักดัน
คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ A Converastion on the Sustainable Future เวที “The Future of sustainability growth” ในงานสัมมนา TMA 60 YEARS of EXCELLENCE
“ การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนจะเป็นอย่างไร แนวทางจะเป็นอย่างไร ผมและอีกหลายๆ คน ก็ยังไม่แน่ใจว่า เราจะไปสู่เส้นทางนั้นได้อย่างไร แต่เราก็พร้อมสนับสนุนความยั่งยืนด้านพลังงาน เพื่อให้บรรลุอนาคตที่ยั่งยืน เราต้องมีแนวทางที่สร้างสรรค์ที่สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตขององค์กรกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และหาแนวทางร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”
โดยบางจากมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงาน ซึ่งการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกภาคส่วน ไม่เพียงกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อบังคับให้ทุกฝ่ายเดินหน้าตามเป้าหมาย แต่จะต้องมาหาแนวทางร่วมกันเพื่อไปสู่เส้นทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
โดยที่ผ่านมา บางจากได้เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2011 จากการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในองค์กร และวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บางจากลงเม็ดเงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และมาลงทุนในพลังงานทดแทน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนที่มุ่งสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างต้นทุนทางธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้น ดังนั้น วันนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของทางแยกระหว่างเป้าหมายการสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืนรักษ์โลก แต่อีกด้านผู้ประกอบการก็ต้องทำรายได้ และสร้างผลกำไรให้แก่นักลงทุน