positioning

พิษโควิด-19 รอบ 3 ฉุดดัชนีเชื่อมั่นมิ.ย.ต่ำที่สุด ในรอบ 12 เดือน วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีน

6 ก.ค. 64
พิษโควิด-19 รอบ 3 ฉุดดัชนีเชื่อมั่นมิ.ย.ต่ำที่สุด ในรอบ 12 เดือน วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีน

ส.อ.ท.เผยดัชดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนอยูที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลง 3 เดือนต่อเนื่อง และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70%ของประชากร พร้อมลดค่าน้ำค่าไฟเอสเอ็มอี 30% พร้อมซอฟโลนพิเศษช่วยเอสเอ็มอีที่เป็น NPLs เร่งด่วน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 80.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมทั้งการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างในหลายพื้นที่ จนภาครัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ เป็นเวลา 30 วัน อาทิ มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร เป็นต้น

index

“ ดัชนีมีการปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ อาทิ คำสั่งซื้อ ยอดขาย ผลประกอบการ ฯลฯ เนื่องจากผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ ประกอบกับ การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังทำได้อย่างจำกัด และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)เป็นสิ่งที่น่าห่วงมากเพราะมีค่าดัชนีฯที่ลดต่ำค่อนข้างมาก”นายสุพันธุ์กล่าว

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกของไทยที่มีทิศทางดีขี้น สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว และสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ที่อ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นปัจจัยบวกต่อผู้ส่งออกทำให้สินค้าไทยถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในบางอุตสาหกรรมต่อการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ส่งออกมีความกังวล

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 90.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดอาจทำได้ยาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องจากการขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเดือนนี้ได้แก่ 1. เร่งการจัดหาวัคซีนคุณภาพและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศในทุกกลุ่มอาชีพก่อน พิจารณาเปิดประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 2. ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนกระทบต่อภาคการผลิตการส่งออก 3. ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งกิจการทุกประเภทเพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

4. ภาครัฐควรจัดหา Soft loan พิเศษ ช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่ม NPLs โดยอาจกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ SMEs กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อาทิ กำหนดดอกเบี้ยพิเศษ หรือจัดทำเกณฑ์พิจารณาสำหรับ NPLs ที่มีโอกาสรอด เป็นต้น5. ออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค 30% เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT