ธุรกิจการตลาด

สุดปัง! เครื่องปรุงรสไทย ส่งออก ที่1 ในอาเซียน ที่4 ของโลก! ขายดีสวนโควิด

25 ม.ค. 65
สุดปัง! เครื่องปรุงรสไทย ส่งออก ที่1 ในอาเซียน  ที่4 ของโลก! ขายดีสวนโควิด
ไฮไลท์ Highlight
“ตลาดสิ่งปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคในต่างประเทศนิยมรสชาติอาหารไทย และมีสินค้าวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศ ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเติบโตในระยะยาว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานและส่วนผสมของวัตถุดิบไม่ให้มีสารปนเปื้อน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีฉลากคำอธิบาย และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ตอบโจทย์ด้านความสะดวกและกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ” นางอรมนเสริม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้! สิ่งปรุงรสอาหารไทยเป็นสินค้ามาแรงช่วงโควิด ดันยอดส่งออก ตลาดโลก ปี 64 พุ่งถึง 949.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12% เผยไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกในตลาดอาเซียน สัดส่วนถึง 30% และอับดับ 4 ของโลก

 

25 ม.ค.65 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าสิ่งปรุงรสอาหารถือเป็นสินค้าดาวรุ่งของไทยที่มีศักยภาพทั้งการผลิตและการส่งออก ซึ่งปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกสิ่งปรุงรสอาหารอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน นอกจากนี้ สินค้าสิ่งปรุงรสอาหารมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เนื่องจากประชาชนหันมาประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นโอกาสที่สินค้าไทยจะขยายตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

 

สำหรับในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าสิ่งปรุงรสอาหาร มูลค่า 949.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่ารวม 509.32 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 53.66% ของการส่งออกสิ่งปรุงรสอาหารทั้งหมดของไทย

 

ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกถึง 30% ของการส่งออกทั้งหมด ขยายตัว 10% สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 13% เนเธอร์แลนด์ ขยายตัว 26% จีน ขยายตัว 18% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 6% เป็นต้น

 

สินค้าส่งออกยังเติบโตได้ดีเกือบทุกรายการ อาทิ ซอสพริก ขยายตัว 37% ซอสถั่วเหลือง ขยายตัว 27% น้ำปลา ขยายตัว 20% ผงปรุงรส ขยายตัว 11% ซอสมะเขือเทศ ขยายตัว 7% และสิ่งปรุงรสอื่นๆ ขยายตัว 6%

 

นางอรมน บอกว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มแต้มต่อ ขยายการส่งออกสินค้าสิ่งปรุงรสอาหารไปตลาดคู่ค้า FTA ซึ่งปัจจุบัน 15 ประเทศคู่ FTA ของไทย ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสิ่งปรุงรสอาหารที่ส่งออกจากไทยแล้วทุกรายการ

 

เหลือเพียง 3 ประเทศ ที่ยังคงภาษีนำเข้าในสินค้าบางรายการ ได้แก่ ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าซอสมะเขือเทศ 15.3-17% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าซอสถั่วเหลืองและเต้าเจี้ยว 5% และอินเดีย เก็บภาษีซอสและสิ่งปรุงรส 30% นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงฯ ฉบับล่าสุดของไทย จะมีผลบังคับให้เกาหลีใต้ทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าเต้าเจี้ยวให้ไทยจนเหลือศูนย์ ภายในปี 2579

 

“ตลาดสิ่งปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคในต่างประเทศนิยมรสชาติอาหารไทย และมีสินค้าวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศ ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเติบโตในระยะยาว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานและส่วนผสมของวัตถุดิบไม่ให้มีสารปนเปื้อน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีฉลากคำอธิบาย และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ตอบโจทย์ด้านความสะดวกและกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ” นางอรมนเสริม

 

448523

      นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT