ข่าวเศรษฐกิจ

ของแพง ทำครัวเรือนไทยวิตก ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แนะรัฐฯเร่งดูแล

13 ม.ค. 65
ของแพง ทำครัวเรือนไทยวิตก ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แนะรัฐฯเร่งดูแล
ไฮไลท์ Highlight
"ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงมีความเปราะบาง มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาค่าใช้จ่าย เช่น การตรึงราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างมาก" 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคครัวเรือนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย กดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

  

13 ม.ค. 65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 33.9 จาก 34.7 ในเดือน พ.ย. เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  (ผลสำรวจจัดทำปลายเดือน ธ.ค.64 ยังไม่รวมผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว)

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารและเครื่องดื่ม โดยดัชนีราคาสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงติดต่อกัน 3 เดือนต่อเนื่อง และในเดือนธ.ค.ลดลงถึง 17.4% บ่งชี้ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้น สร้างความวิตกกังวลให้กับภาคครัวเรือนอย่างมาก แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะยังมีมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง หรือมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นยังไม่มีแนวโน้มบรรเทาลงในระยะเวลาอันใกล้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอน แต่ปัญหาทางด้านภาวะอุปทานน้ำมันยังคงมีอยู่ เช่น ประเทศในสมาชิกกลุ่มโอเปกบางส่วนไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามที่โควต้าจากปัญหาภายในประเทศ

ขณะที่บางส่วนเกิดขึ้นจากปัญหาเฉพาะตัวของสินค้า เช่น ราคาสุกร ที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 10 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังสินค้าทดแทนอื่น ๆ อย่างเนื้อไก่ให้ปรับขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังได้มีมติทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) โดยรอบเดือนม.ค.-เม.ย.65 จะเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปกติ สถานการณ์ดังกล่าวจะเข้ามากดดันค่าครองชีพของครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อยังมีแนวโน้มเปราะบาง

ด้านตลาดแรงงานยังเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน ที่ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีมาตรการเข้มงวดในการคุมเข้มการระบาด แต่สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ 

"ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงมีความเปราะบาง มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาค่าใช้จ่าย เช่น การตรึงราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างมาก" 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการทำงานว่า ในปี 64 ที่ผ่านมา ครัวเรือนได้มีการทำอาชีพเสริม/มีอาชีพที่สองเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลสำรวจระบุว่า ครัวเรือนที่หน้าที่การงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มทำอาชีพเสริมกันเพิ่มขึ้น (28%) โดยส่วนใหญ่เป็นการขายสินค้าออนไลน์ ขณะที่ครัวเรือนมากกว่าครึ่งหนึ่ง มีความสนใจที่จะทำอาชีพเสริม แต่ยังไม่ได้เริ่มทำ 

"บ่งชี้ว่าโควิด-19 ยังคงกระทบตลาดแรงงานต่อเนื่อง และในอนาคต อาจเห็นแนวโน้มการทำอาชีพเสริมมากขึ้น ทั้งจากความต้องการด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น และป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแต่ละอาชีพ"

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT