ข่าวเศรษฐกิจ

รัฐฯระดมแก้หมูแพง จ่อหยุดส่งออก ,เตรียมเงินปล่อยกู้เกษตรกร 3 หมื่นล้านบาท

5 ม.ค. 65
รัฐฯระดมแก้หมูแพง จ่อหยุดส่งออก ,เตรียมเงินปล่อยกู้เกษตรกร 3 หมื่นล้านบาท

กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมแก้ปัญหาหมูแพง ด้วยการเตรียมระงับการส่งออกไปต่างประเทศ และเร่งผลิตลูกหมูเพิ่ม รวมถึงหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุน ขณะที่ธกส. เตรียมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยสภาพคล่องให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเพื่อใช้ในการปรับปรุงการเลี้ยง

 

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกถึงการแก้ปัญหาราคาหมูแพงว่า ทางกรมปศุสัตว์รายงานว่า ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรภายในประเทศปี 2563-2564 มีประกอบการรวม 1.9 แสนราย สามารถผลิตสุกรประมาณ 20 ล้านตัวต่อปี เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ ประมาณ 1 หมื่นราย มีปริมาณสุกรมากกว่า 10 ล้านตัว และเลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยประมาณ 1.8 แสนราย 

 

ซึ่งในปี 2563-2564 ประเทศเพื่อนบ้านเกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ไทยต้องใช้มาตรการเข้มคุมและป้องกันการระบาด ประกอบกับสถานการณ์โควิด19 ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง

 

จากปี 2564 ถึง ปัจจุบัน สถานการณ์โควิดดีขึ้น สามารถยับยั้งโรคในสุกรได้ ทำให้สุกรไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ราคาเนื้อหมูสดภายในประเทศจึงปรับราคาสูงขึ้น ารแก้ปัญหาระยะสั้นคือ จะเร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ที่จะหยุดการส่งออกสุกรในทันทีเพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ

 

สำหรับในระยะกลาง - ยาวนั้น กรมปศุสัตว์จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเดิม ในพื้นที่ ที่มีความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ โดยคาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

นอกจากนี้ จะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย มีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง 4 ล้านตัน/ต่อปี โดยกำหนดเป็นพื้นที่ในการผลักดัน “ปศุสัตว์ Sandbox” หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต–ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยด่วน

 

ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกว่า จากจำนวนผู้ประกอบการ 1.9แสนราย เป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 59, 205 ราย ขณะที่ผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่มีประมาณ 3% แต่ผลิตสุกรประมาณ 70% โดยสุกรที่ขุนได้เฉลี่ยปีละ 22 ล้านตัว ซึ่งกว่า 90% ใช้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งผลกระทบของโรคระบาดร้ายแรงในสุกรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ไทยจะควบคุมโรคได้ดี แต่ก็ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายไปราว 30-40% เหลือเพียงประมาณ 18 ล้านตัวเศษ และคาดว่าปี 2565 จะผลิตได้เพียง 13-15 ล้านตัว เมื่อประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีผู้เลี้ยงรายใหม่ลดลง

 

ในส่วนของ ธ.ก.ส.ได้เตรียมสินเชื่อพิเศษสำหรับเป็นทุนในการสนับสนุนการเลี้ยงสุกร การเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการผลิตอาหารสัตว์ และการวางระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคระบาดที่มักจะเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณสุกรให้ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย  สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สำหรับเกษตรกรรายย่อยและบุคคลในครัวเรือนที่ประสงค์จะกู้เงิน เพื่อไปลงทุนเลี้ยงสุกรหรืออื่น ๆ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย

 

ต่อมาคือ สินเชื่อ Food Safety เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือเพื่อเป็นค่าลงทุนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือ  สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุนในการประกอบธุรกิจ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ หรือรักษาสิ่งแวดล้อม กำหนด วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อ

กรณีที่ผู้ประกอบการสามารถนำ Platform มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ หรือมีการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์หรืออาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่มีมาตรฐานรับรอง จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษอีกด้วย

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT