ข่าวเศรษฐกิจ

ส่องวิกฤตค่าเงินตุรกี เมื่อรัฐบาลไร้น้ำยา Bitcoin จึงเป็นคำตอบ

22 ธ.ค. 64
ส่องวิกฤตค่าเงินตุรกี เมื่อรัฐบาลไร้น้ำยา Bitcoin จึงเป็นคำตอบ

แต่สำหรับประเทศ "ตุรกี" พระเอกที่เข้ามาช่วยกอบกู้ประชาชน ในวันที่ทนกับฝีมือบริหารของผู้นำประเทศไม่ไหว กลับเป็น "คริปโตเคอร์เรนซี" สินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกแบงก์ชาติทั่วโลกตราหน้าว่าเป็นวายร้าย ที่จะทำให้ระบบการเงินโลกต้องวายป่วง




ถ้าคิดว่าเงินเฟ้อ 3% ต่อปี ทำให้ราคาก๋วยเตี๋ยวในวันนี้แพงขึ้นสวนทางเงินในกระเป๋าแล้ว ตุรกีอาจให้ภาพที่น่าตกใจกว่า เพราะ "ค่าเงินลีรา" (Lira) อ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 40% จากต้นปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ พุ่งไปแตะ 21%




อาจเปรียบได้ว่า ราคาข้าวที่เคยกินจานละ 40 บาท จะพุ่งขึ้นไปเกือบ 80 บาททันที และด้วยสภาพเช่นนี้จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น คนมีเงินมากขึ้น จนสามารถซื้อข้าวจานละ 80 บาทได้




ด้วยเหตุนี้ บิตคอยน์และสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ จึงขึ้นมามีบทบาทแทนที่เงินลีราในฐานะ "ตัวล็อกมูลค่าสินทรัพย์" แม้ว่าจะมีความผันผวนมากกว่าเงินจริงในปัจจุบัน เช่น ดอลลาร์ ยูโร หรือปอนด์ อแต่จุดเด่นของคริปโตที่เข้าถึงง่ายกว่า ไม่ยุ่งยากซับซ้อน จึงทำให้กลายเป็นพระเอกที่คนตุรกีจำนวนไม่น้อยฝากความหวังเอาไว้ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตค่าเงิน




สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน Chainalysis และ Kaiko ว่า ช่วงที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตมากที่สุด คือช่วงที่ประธานาธิบดี เรเซป เตย์ยิป เออร์โดอาน ประกาศปลดและเปลี่ยนตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ไม่ยอมตอบสนองนโยบายทางการเมือง เมื่อเดือน มี.ค. ปีนี้ ซึ่งทำให้มูลค่าการทำธุรกรรมคริปโตในตุรกีพุ่งไปทะลุ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/วัน (ราว 33.7 ล้านบาท) ก่อนที่มูลค่าธุรกรรมจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ประมาณไม่ถึง 5 แสนดอลลาร์/วัน




การหันไปถือคริปโตนั้น ไม่ใช่เพราะชาวตุรกีมีความล้ำหน้ามากกว่าใคร แต่เป็นเพราะตลาดคริปโตเข้าถึงง่ายกว่าตลาดมืด




แต่เดิมนั้น การแลกเงินลีราเปลี่ยนเป็นดอลลาร์สหรัฐ หรือทองคำ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่เน้นนโยบาย "ประชานิยม" มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกจนค่าเงินลีร่าด้อยค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลตุรกีพยายามทำให้การแลกเปลี่ยนมีขั้นตอนยุ่งยากและเป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้น ตลาดคริปโตที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า และมีราคาพุ่งสูงขึ้นมากในปีนี้ จึงกลายมาเป็นที่นิยมของชาวตุรกีไปโดยปริยาย




จากข้อมูลพบว่า บิทคอยน์ซึ่งทำราคาไปแตะระดับสูงสุดที่ 69,000 ดอลลาร์เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และ Tether ซึ่งเป็นเหรียญประเภท stablecoin หรือเหรียญที่ผูกติดกับสินทรัพย์จริงเงินจริง คือกลุ่มเหรียญยอดนิยมที่สุดสำหรับการเทรดเงินลีรา นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา




อย่างไรก็ตาม ความนิยมของคริปโตก็กำลังทำให้รัฐบาลตุรกีจับตามองอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยรัฐมนตรีช่วยคลังของตุรกี ออกโรงเปรยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาว่า อาจจะออกกฎหมายมาควบคุมคริปโต ขณะที่ธนาคารกลางก็ออกประกาศห้ามการใช้คริปโตซื้อสินค้าและบริการ โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงในการทำธุรกรรมและอาจสร้างความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้




เกร็ดน่ารู้ในวิกฤตค่าเงินตุรกี

  • เงินเฟ้อตุรกีปีนี้พุ่งไปแตะ 21% ปกติจะต้อง "ขึ้นดอกเบี้ย" เพื่อแตะเบรกราคาสินค้า และเพิ่มมูลค่าให้ค่าเงิน แต่ตุรกีกลับแทงสวนด้วยการ "ลดดอกเบี้ย" แถมลดไปถึง 4 รอบในปีนี้ โดยอ้างว่าต้องการช่วยประชาชนด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า และย้ำว่าปัญหาเงินเฟ้อนั้นรัฐบาล "เอาอยู่"
  • ค่าเงินลีร่าอ่อนค่ามากกว่า 40% ในปีนี้ แต่ถ้านับยาวตั้งแต่ปี 2008 จะอ่อนค่าถึง 90%
  • ราคาสินค้าส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 50% เช่น ราคามะเขือเทศเดือน ส.ค. แพงขึ้น 75% เมื่อเทียบปีก่อน
  • รัฐบาลลดดอกเบี้ยในปีนี้ 4 ครั้ง จาก 19% เมื่อต้นปี ลงมาเหลือ 14% ในปัจจุบัน
  • รัฐบาลเปลี่ยนผู้ว่าการแบงก์ชาติ 3 คน ใน 2 ปีครึ่ง และเมื่อวานนี้เพิ่งเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลัง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT