อินไซต์เศรษฐกิจ

อนาคต แม่สาย หลังน้ำท่วมใหญ่ แผลเป็นทางเศรษฐกิจของอดีตเมืองค้าชายแดน

14 ก.ย. 67
อนาคต แม่สาย หลังน้ำท่วมใหญ่ แผลเป็นทางเศรษฐกิจของอดีตเมืองค้าชายแดน
ไฮไลท์ Highlight
“เมืองไหนก็ตามที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรง จะถูกเปรียบเหมือนแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ยากกว่าที่จะกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากเคยสำรวจพบว่า หลังโควิด 19 ในช่วงปี 64-65 เหลือสภาพคล่องเฉลี่ยแค่เพียง 15 วันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อต้องเจอน้ำท่วมและทุกอย่างหยุดชะงักไปสภาพคล่อง  SME  น่าจะไม่เหลือแล้ว “ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวกับSPOTLIGHT   

อำเภอ แม่สาย จังหวัดเชียงราย คือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะเป็นพื้นที่ชายแดนติดที่กับประเทศเมียนมาร์ในอดีตเคยเป็นเมืองที่คึกคัก เพราะเป็นที่ตั้งของด่านการค้าชายแดนที่สำคัญระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ผู้คนของทั้งสองประเทศสามารถไปมาหาสู่กันและค้าขายร่วมกันมาเป็นเวลาเนิ่นนาน 

โดย แม่สาย เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 21 ตำบล คือ  อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และ อำเภอแม่สาย แน่นอนว่าธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs คิดเป็น 98.17% และประกอบธุรกิจขายปลีก/ขายส่ง เป็นส่วนใหญ่

หลังจากได้เห็นภาพความเสียหายของอำเภอแม่สายที่ถูกน้ำท่วมปีนี้  (2567) หนักหนาสาหัส ทำให้ต้องกลับมาดูข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ว่าได้รับความเสียหายแค่ไหนและจะฟื้นฟูให้กลับมาดังเดิมได้อย่างไร 

น้ำท่วม กระทบเศรษฐกิจพื้นที่ ' แม่สาย ' 

จากอดีตเมืองค้าชายแดนที่สำคัญ ตั้งแต่โควิด 19 มากระทบธุรกิจ ทำให้พื้นที่ในอำเภอแม่สายก็เงียบเหงาอย่างไม่ต้องสงสัย ซ้ำหนักมาเจอสภาพการค้าที่เปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น การค้าออนไลน์เติบโต หรือแม้แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้แม่สาย มีข่าวเป็นระยะว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ค้าขายได้น้อยลง และต้องปิดตัวกันไปก็มีไม่น้อย

น้ำท่วมใหญ่ที่แม่สายปีนี้ โดยเฉพาะเห็นภาพชัดที่ตลาดสายลมจอย ทางการประเมินว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพราะที่นี่มีร้านค้ากว่า 200 ร้าน ถนนสายที่ผ่านกลางตลาดถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร แม่ค้าในตลาดถึงกับบอกว่า เป็นครั้งแรกที่น้ำท่วมสูงขนาดนี้ 

น้ำท่วมแม่สาย เชียงราย
ภาพจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงเชียงราย กรมประชาสัมสัมพันธ์ 

 

น้ำท่วมแม่สาย เชียงราย
ภาพจาก AFP

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT ถึงผลกระทบและแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมปีนี้ โดยเฉพาะ “แม่สาย” ว่า  แม่สายคืออดีตเมืองการค้าชายแดนที่ยิ่งใหญ่ของไทย แต่ปัจจุบันการค้าชายแดนได้ลดความสำคัญลงไปมากแล้วเพราะช่องทางการค้าในปัจจุบันมีมากขึ้น การค้าข้ามแดนโตมากกว่า โลกการค้าที่เปลี่ยนไปนี่เองทำให้แม่สาย ที่เคยเป็นเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญก็ได้ลดบทบาทลงไป ดังนั้นน้ำท่วมใหญ่ที่แม่สายครั้งนี้อาจไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของภาคเหนือ  แต่กระทบภาคการเกษตรของแม่สายและประชาชนที่อยู่อาศัย รวมทั้งเส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ 

แม้ขณะนี้ปริมาณน้ำจะเริ่มลดลงมาแล้ว แต่ในระยะนี้พื้นที่ภาคเหนือก็ยังเผชิญกับฝนที่ตกอยู่ ดังนั้นสถานการณ์น้ำก็ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งดร.เกียรติอนันต์ มองว่า หลังน้ำลดสภาพความเสียหายก็ยังคงหนัก โคลนที่หนา  การเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงยังต้องใช้เวลาคาดว่า อย่างน้อย 1 เดือนกว่าที่พื้นที่จะดีขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรได้รับความเสียหายมาก คาดว่าต้องใช้เวลามาก 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


“เมืองไหนก็ตามที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรง จะถูกเปรียบเหมือนแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ยากกว่าที่จะกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากเคยสำรวจพบว่า หลังโควิด 19 ในช่วงปี 64-65 เหลือสภาพคล่องเฉลี่ยแค่เพียง 15 วันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อต้องเจอน้ำท่วมและทุกอย่างหยุดชะงักไปสภาพคล่อง  SME  น่าจะไม่เหลือแล้ว “ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวกับSPOTLIGHT   

บทเรียนการพัฒนาเมืองให้ฟื้นฟูได้ไวในทุกมิติ

ดร.เกียรติอนันต์ มองว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 

1.การเยียวยา - การจ่ายชดเชยเป็นเงินสดให้กับผู้ประสบภัยในทันที รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประสบภัยที่สูญเสียความสามารถในการหารายได้ชั่วขณะ 

2.การฟื้นฟู - การทำให้พื้นที่ประสบภัยกลับมาสู่สถานการณ์ก่อนเจอน้ำท่วม โดยภาคสถาบันการเงินต้องสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ

3.การส่งเสริม - การลงไปพัฒนาให้พื้นที่ดังกล่าวพัฒนาต่อไปอย่างไรให้ดีขึ้นจากเดิม ซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบและพัฒนาเมืองที่เคยมีการศึกษาว่า เมืองต่างๆ ต้องถูกออกแบบให้ resilience คือ ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อต้องเจอผลกระทบในทุกมิติทั้ง การเมือง สังคม รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วย 

น้ำท่วม คือ ภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ครั้งหนักที่สุดคือปี 2554 ผ่านมาแล้ว 13  ปีประเทศไทยมีบทเรียนจากความเสียหายน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท ความคาดหวังก็คือ การเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยน้ำท่วมที่ควรจะดีขึ้น ทั้งการปรับปรุงพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำ การประเมินเหตุการณ์ที่ควรแม่นยำขึ้น การแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน การเข้าถึงพื้นที่เพื่อทำการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ รวมถึงหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วการเยียวยาฟื้นฟูที่ต้องรวดเร็ว เพราะสภาพเศษฐกิจในเวลานี้มีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบรอบด้าน ปัญหา Climate Change ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยใหญ่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเตรียมแผนรับมือให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยมากกว่านี้     


ที่มาข้อมูลบางส่วน : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ , ข่าว สถานีวิทยุกระจายเสียงเชียงราย กรมประชาสัมพันธ์

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT