อินไซต์เศรษฐกิจ

ทําไมค่าไฟ และ FT แพงผิดปกติ 2566 สาเหตุมาจากอะไร?

1 ม.ค. 66
ทําไมค่าไฟ และ FT แพงผิดปกติ 2566 สาเหตุมาจากอะไร?
ไฮไลท์ Highlight
  “เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ภาระหรือวิกฤตที่เข้ามา ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันในการมอง”

ทําไมค่าไฟแพงผิดปกติ 2566? ค่า FT แพงจังเลย? คงเป็นคำถามคาใจหลายคน เพราะ 2565 ที่ผ่านมา โลกของเราเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในมิติของพลังงาน เห็นได้ชัดสุดคงเป็น ‘ราคาน้ำมัน’ ที่พุ่งกรฉูดจากการเปิดประเทศดันความต้องการพุ่งสูง ประกอบกับเหตุการณ์ Black Swan ที่ไม่มีใครคาดคิดอย่าง ‘สงครามรัสเซีย - ยูเครน’ นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ‘ค่าไฟ’ เองก็เป็นรายจ่ายพื้นฐานของทุกบ้าน และเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่นับวันราคาจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งปัจจัยความต้องการใช้ไฟที่พุ่งสูงขึ้น ล้อไปกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคัก และวิกฤตการณ์พลังงานที่รุนแรงขึ้นเมื่อหน้าหนาวมาถึง

 

แล้วในปี 2566 นี้ ‘ค่าไฟ’ จะได้รับผลกระทบอย่างไร เราทำอย่างไรได้บ้าง Spotlight ชวน ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือ ดร. โอ ไขข้อสงสัยในเรื่องนี้

 

ค่าไฟ ค่า  FT
 

 

ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 1 : ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟ (Quantity)

 

เนื่องจากประเทศใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกว่า 80% ในการผลิตไฟฟ้า ปัจจัยต่างๆ ที่กระทบราคาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ก็จะส่งผลกระทบมายังค่าไฟด้วย โดยจะกระทบมาถึงเราๆ ผ่าน ‘ค่า FT’

ทำความเข้าใจค่า FT และสาเหตุที่ค่า FT ช่วงนี้ปรับสูงขึ้นได้ที่นี่

@spotlightbiz ส่อง 3 สัญญาณ ขึ้น #ค่าFT ฤดูกาลนี้ #ค่าไฟแพง มาแน่! #กฟผ #การไฟฟ้า #กระทรวงพลังงาน #ค่าไฟ #ประหยัดไฟ #ค่าครองชีพ #ปีใหม่ #ค่าเงิน #น้ำมันแพง #ก๊าซแพง #ของแพง #ความรู้ #ข่าวธุรกิจ #Spotlight #egat #ข่าวTikTok Powerful songs like action movie music - Tansa



สำหรับปัจจัยกดดันในประเทศนั้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก (กว่า 50%) ในการผลิตไฟฟ้านั้น อยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน จากที่เคยใช้ผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือเพียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลง 4 เท่า ส่งผลให้ต้องจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงเพิ่มเติม จากทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุด ปตท.สผ. เผยว่ากำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะกลับมาสู่ระดับปกติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ใช้ช่วงเดือน เม.ย. 2567

นอกจากปัจจัยในประเทศแล้ว สถานการณ์ด้านพลังงานของโลกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันราคาเชื้อเพลิงธรรมชาติทั่วโลก ในหน้าหนาวความต้องการใช้พลังงานจากกลุ่มประเทศตะวันตกจะเพิ่มสูงขึ้น และมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าส่วนที่รับซื้อมาจากต่างประเทศ มีสัดส่วนเกือบ 20% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และมีต้นทุนที่แพงกว่าเชื้อเพลิงในประเทศถึง 6 เท่า

หากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศมีเกินกว่ากำลังการผลิตในประเทศไปมากจนต้องนำเข้าเชื่อเพลิงในปริมาณมาก ก็จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงส่วนนี้ ทั้งภาคประชาชน ที่ใช้ไฟฟ้าราว 1 ใน 4 ของทั้งหมด และภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้ไฟฟ้ารวมกัน 3 ใน 4 ของทั้งหมด
 

ค่าไฟ กฟผ.

ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 2 : คุณภาพการจ่ายไฟ (Quality)

 

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ไม่ใช่แค่ไฟฟ้าที่ดี แต่ต้องมีคุณภาพในการส่งที่ดีด้วย ในบรรดา 10 ประเทศอาเซียนนั้น การให้บริการไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น อยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย โดยข้อมูลในปี 2019 เผยว่า ในเฉลี่ย 1 ปี ผู้ใช้ไฟชาวไทย 1 คนเจอไฟดับ 0.72 ครั้ง และไฟดับต่อครั้งราว 0.38 ชม. ต่อคน ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว 30 - 50 เท่าเลยทีเดียว

 

ค่าไฟ ไฟดับ

 

ไฟดับน้อยกว่าแล้วดีอย่างไร?

 

ในครัวเรือนทั่วไป ไฟดับ 1 ครั้ง อาจหมายถึงความไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ละเอียดอย่างอิเล็กทรอนิกส์ ยาและเวชภัณฑ์ หรือเคมีภัณฑ์แล้ว การที่ไฟดับ 1 ครั้ง หมายถึงค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาล จากการต้องทิ้งชิ้นงานไปทั้งล็อต ความมั่นคงทางการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่โรงงานอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ

เพื่อรองรับการลงทุนด้านสร้างฐานการผลิตขั้นสูงจากต่างชาติที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และในทางกลับกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านการจ่ายไฟฟ้า กระทรวงพลังงานและกฟผ. จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพื่อให้ทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจใช้ไฟได้อย่างมีคุณภาพ

 

ค่าไฟ พลังงานทดแทน
 


ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 3 : เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ความท้าทายในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย คือการต้องขยับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จากเดิมที่ราว 10% ขึ้นไปเป็นราว 50% ช่องว่างดังกล่าวนั้นหมายถึงการลงทุนมูลค่ามหาศาล ที่ต้องทยอยเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงปี 2050

นอกเหนือจากการลงทุนในการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ แล้ว การลงทุนในที่นี้ ยังต้องรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเสถยรภาพของระบบไฟฟ้า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเอาแน่เอานอนได้น้อยกว่าไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล จึงต้องเตรียมการเพื่อให้จ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชม.

 


แต่รักษ์โลกไป แล้วเราได้อะไร?

 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

 

 

ดร. โอ กล่าวว่า หากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เคยเป็นความ ‘โชติช่วงชัชวาล’ ของประเทศไทย ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้ว พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) นี่แหละที่จะกลายเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทย ‘โชติช่วงชัชวาล’ อีกครั้ง เพราะธุรกิจทั่วโลกตอนนี้ กำลังหันหาประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยนับว่าเนื้อหอม และมีความพร้อมด้านและศักยภาพด้านพลังงานสะอาดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พร้อมดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน

ดร. โอยังเผยว่า ปัจจุบัน ไทยเราเริ่มใช้ ‘Green Tariff’ หรือ ‘อัตราค่าไฟสีเขียว’ เช่นเดียวกับต่างชาติแล้ว ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟที่ภาคอุตสาหกรรมต้อง ‘จ่ายแพงเป็นพิเศษ’ เพื่อใช้โควต้าไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ Carbon Tracking ว่าการผลิตสินค้าของบริษัทนั้นๆ มาจากการใช้พลังงานสะอาด ทำให้ไม่ถูกกีดกันจากกำแพงภาษีสิ่งแวดล้อมของนานาประเทศ และช่วยขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสะอาดของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
 

 

Smart Energy Solution 
ปัจจัยค่าไฟแพง ปัจจัยที่ 4 : ปริมาณการ/ความต้องการใช้ไฟ (Consumption/Demand)

 

ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลให้ค่าไฟแพงก็คือ ปริมาณการใช้ไฟที่จะพุ่งสูงขึ้นในปี 2566 จากทั้งฝั่งครัวเรือน และฝั่งธุรกิจ เพราะเมื่อปริมาณการใช้ไฟพุ่งสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้นนี้ ก็จะส่งผลให้ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ดันให้ค่า FT พุ่งสูงขึ้น วนกลับมาในบิลค่าไฟให้เรารู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้ากันตลอดปี 2566

ถ้าจะพูดกันแบบง่ายๆ ดร. โอ อยากให้พวกเราช่วยกันประหยัดไฟ

แต่จะไม่ใช้การประหยัดไฟแบบทั่วไป เป็นการประหยัดไฟแบบ ‘ชาญฉลาด ด้วยเทคโนโลยี’

 

ค่าไฟ IOT



ในบิลค่าไฟบ้านแต่ละเดือน ค่าไฟจากแอร์มีสัดส่วนถึง 70% ของค่าการใช้ไฟทั้งหมด นวัตกรรมในอนาคตอันใกล้ที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการใช้พลังงานคือนวัตกรรม IOT ที่ดูแลเรื่อง ‘ความสบาย’ อันประกอบด้วย ‘ความชื้น และ อุณหภูมิ’

ทุกวันนี้ เราเปิดแอร์เย็นๆ เพื่อไล่ความชื้น และลดอุณหภูมิ เราไม่ได้ต้องการ ‘แอร์เย็นๆ’ แต่เราต้องการที่จะ ‘สบายตัว’ ในอนาคตอันใกล้ ในแต่ละบ้านจะต้องติดตั้งระบบตรวจวัดความชื้นและอุณหภูมิ (ปัจจุบันมีใช้งานจริงแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย) ซึ่งจะตรวจวัดความสบายของห้อง แล้วปรับแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งนี่จะเป็นการปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน ให้เหลือเท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบต่อพฤติกรรมของลูกบ้านเลย

แต่ถ้าในระยะเวลาอันสั้นนี้ ใครที่ได้โบนัสปลายปี ดร. โอ แนะนำให้เปลี่ยนแอร์บ้านเป็นแอร์รุ่นใหม่ ซึ่งประหยัดไฟกว่าแอร์เก่าอย่างมาก และการันตีได้เลยว่าจะคืนทุนภายใน 1 - 2 ปี สบายตัวกว่า แถมสบายกระเป๋าด้วย

 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน



แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นการใช้ไฟฟ้าแค่ 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ

 

การใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งนับเป็น 3 ใน 4 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดนั้น หากปรับกลยุทธ์ ลดการใช้พลังงานได้ จะส่งแรงกระเพื่อมอย่างมากต่อค่า FT และถือเป็นการช่วยเหลือทุกภาคส่วน ส่งผลดีต่อทั้งภาคธุรกิจเอง และภาคครัวเรือน เพราะที่สุดแล้ว ทุกคนต้องกลับบ้าน ใช้ไฟฟ้า และจ่ายค่าไฟ

 

เพื่อความกระจ่างชัด Spotlight จึงถามดร. โอ ว่า นี่นับเป็นการผลักภาระไปยังภาคประชาชนและภาคธุรกิจหรือเปล่า?

 

“เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ภาระหรือวิกฤตที่เข้ามา ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันในการมอง”

 

smart building 


ดร. โอ กล่าวเสริมว่า นี่นับเป็นโอกาสในวิกฤต สำหรับภาคธุรกิจ สามารถใช้โอกาสนี้ในการทรานสฟอร์มพฤติกรรมการใช้พลังงานของตัวเอง ให้สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปรับลดสัดส่วนการพึ่งพิงพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะส่งผลให้ค่า FT แพงขึ้น เพิ่มการลงทุนในพลังงานสะอาด และนวัตกรรมประหยัดพลังงานต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าทุกที่มีแผนจะทำอยู่แล้วเพื่อมุ่งไปสู่ Carbon Neutality แต่หากขยับไทม์ไลน์มาเป็นช่วงนี้ ก็จะเป็นการช่วยส่วนรวมด้วย

ทางกระทรวงพลังงานเองได้ออก ‘Building Energy Code หรือ BEC’ ซึ่งเป็นกฎกระทรวงกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร อาคารที่ออกแบบภายใต้ BEC จะมีลักษณะ

  • ออกแบบโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน
  • ติดตั้งอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง + สมาร์ทเทคโนโลยี
  • ค่าใช้จ่ายพลังงานต่ำ 

ซึ่งผู้ประกอบการที่ออกแบบอาคารตามหลัก BEC ประกอบกับมีนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงาน และมีแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ก็จะช่วยลดการใช้ไฟลงได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ ดร. โอ ยังแนะนำว่า องค์กรต่างๆ ยังสามารถใช้จุดแข็งนี้ในการสื่อสารเป็น กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) หรือกระทั่งผนวกเป็นหนึ่งในคุณค่าหลักขององค์กร เกิดเป็น Creating Shared Value (CSV) หรือ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผสานการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับผลประโยชน์แก่สังคมได้อีกด้วย
 

995557

 

3 มุมต้องบาลานซ์ ‘สะอาด - ไม่ดับ - ราคารับได้’

 

แม้จะฟังดูไม่น่ารื่นหูเท่าไร แต่ต้องยอมรับกันก่อนว่า ‘ของถูกและดี ไม่มีในโลก’ ไฟฟ้าก็เช่นกัน กว่าจะได้ออกมาเป็นไฟฟ้าให้เราใช้ มีปัจจัยต้องให้ชั่งน้ำหนักมากมาย ดร. โอ เผยว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า และสะท้อนมายังค่าไฟของประชาชน คือ ‘สะอาด - มั่นคง - ราคาพอรับได้’

สะอาด : เชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย กว่า 80% ยังคงมาจากพลังงานฟอสซิล และ 13.5% ที่มาจากพลังงานสะอาด ซึ่งในกว่า 80% ที่เป็นพลังงานฟอสซิลนั้น เป็น ‘ถ่านหิน’ ซึ่งพลังงานที่สะอาดน้อยที่สุด แต่ ‘ราคาถูกที่สุด’ อยู่ 16% ซึ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่ใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานถึง 48% ของชนิดเชื้อเพลิงทั้งหมด หรืออินโดนีเซีย ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 36.15% ก็ยังนับว่าการใช้ถ่านหินในไทยเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า เป็นพิษต่อโลกน้อยกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาต่อหน่วยที่สูงกว่า

 

Energy Mix Thai

 



คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดอีกได้ไหม?

 

มั่นคง : พลังงานสะอาด แม้จะดีต่อโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีและต้นทุนในปัจจุบันนั้น ยังไม่สามารถทำให้เกิด ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ ได้มากพอ เพราะทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลมนั้น ผันแปรไปตามสภาพอากาศแต่ละฤดู จึงยังสร้างไฟฟ้าได้ไม่เสถียร และต้องการการลงทุนในแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกมาก แถมค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบการจ่ายไฟให้เสถียรและมั่นคง ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงอีกด้วย

 

จึงเกิดคำถามที่ว่า แล้วถ้าต้องการมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งต้องการการลงทุนมาก ประชาชนจะจ่ายไหวไหม?

 

ราคาพอรับได้ : ทั้งเอกชนและประชาชน ‘ค่าไฟ’ คือหนึ่งในต้นทุนของการทำธุรกิจและการใช้ชีวิต หากราคาสูงเกินไป ก็จะกระทบการใช้ชีวิต และธุรกิจได้ จึงจะต้องบาลานซ์ทั้งความสะอาดของเชื้อเพลิงต้นทาง รวมไปถึงความมั่นคงในการจ่ายไฟ ให้อยู่ในระดับราคาที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์โลก เป็นความท้าทายที่กระทรวงพลังงานและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล จะต้องจัดการให้ได้

 

พลังงานไฟไฟ้า ไทย


 

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อน ดร. โอ กล่าวว่า มาจาก 4 ปัจจัย คือ ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟ (Quantity), คุณภาพการจ่ายไฟ (Quality), เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality), และปริมาณการ/ความต้องการใช้ไฟ (Consumption/Demand)

 

ถ่านหิน แม่เมาะ



สุดท้ายนี้ ดร. โอ ฝากถึงทุกคนว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้ฝากนโยบาย ‘รวมพลังหาร 2’ ไว้ ให้ทุกคนลดการใช้พลังงาน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ อยากเชิญชวนทุกคนยกระดับ ไม่แค่ ‘รับทราบ’ ถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงานเพื่อโลก แต่เริ่มลงมือ ‘เปลี่ยน’ ทั้งความคิด พฤติกรรม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เราใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน จึงควรร่วมมือและฝ่าฟันวิกฤตพลังงานนี้ไปด้วยกัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT