อินไซต์เศรษฐกิจ

'บุหรี่ทำลายเศรษฐกิจ'นิวซีแลนด์ห้ามคนเกิดหลัง 2008 ซื้อบุหรี่ตลอดชีวิต

14 ธ.ค. 65
'บุหรี่ทำลายเศรษฐกิจ'นิวซีแลนด์ห้ามคนเกิดหลัง 2008 ซื้อบุหรี่ตลอดชีวิต

“นิวซีแลนด์” กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมาย “แบนการสูบบุหรี่ตลอดชีวิต” หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ Ayesha Verrall ออกมาประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนชาวนิวซีแลนด์ที่เกิดหลังวันที่ 1 มกราคม ปี 2009 ซื้อบุหรี่ตลอดชีวิต เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2023

istock-1388166401

การแบนไม่ให้คนอายุน้อยซื้อบุหรี่ในครั้งนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลนิวซีแลนด์ในการที่จะทำให้ประเทศกลายเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ ด้วยการบังคับให้ประชากรที่ซื้อบุหรี่ได้ค่อยๆ ลดหายไปตามเวลา และถ้ากฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ในปีหน้า ภายในปี 2050 ประชากรชาวนิวซีแลนด์ที่อายุน้อยกว่า 40 ปีลงไปทั้งหมดจะไม่มีสิทธิซื้อบุหรี่ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ เพื่อทำให้การควบคุมการสูบบุหรี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลยังมีแผนจะออกนโยบายร่วมหลายประการที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปหาซื้อบุหรี่มาสูบได้ยากขึ้นอีกด้วย เช่น

  • การแบนไม่ให้มีการขายบุหรี่ในร้านสะดวกซื้อ หรือร้านของชำธรรมดาทั่วไปในท้องถนน แต่จะจำกัดให้มีการซื้อขายในร้านที่ได้รับอนุญาตให้มีการขายบุหรี่โดยเฉพาะเท่านั้น
  • การลดจำนวนร้านขายบุหรี่จากในปัจจุบันที่มี 6,000 ร้านให้เหลือ 600 ร้าน
  • การออกกฎหมายจำกัดปริมาณนิโคตินในบุหรี่ ให้บุหรี่ในนิวซีแลนด์สูบแล้วติดยากขึ้น

จากกฎเกณฑ์เหล่านี้ การออกกฎหมายในครั้งนี้ของนิวซีแลนด์จึงเป็นการพยายามทำให้บุหรี่กลายเป็นทั้งของหายาก และของที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดน้อยที่สุด

 

ทำไมนิวซีแลนด์จึงเข้มงวดกับการห้ามไม่ให้ประชาชนสูบบุหรี่

จากการรายงานของ BBC การออกกฎหมายแบนไม่ให้คนอายุน้อยซื้อบุหรี่ของนิวซีแลนด์ในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อลด “ค่าเสียหายทางเศรษฐกิจ” ที่จะเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องใช้ไปกับการรักษาผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ในแต่ละปี มูลค่าถึง 5 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือราว 1.1 แสนล้านบาท รวมไปถึงการเสียแรงงานที่ควรจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจไปก่อนวัยอันควร

โดยในปัจจุบัน ในนิวซีแลนด์มีประชาชนอายุเกิน 15 ปีที่สูบบุหรี่อยู่เพียง 8% ลดลงจาก 9.4% ในปีที่แล้ว และส่วนมากผู้ที่สูบบุหรี่จะเป็นชาวพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ เช่น ชาวเมารี (Maori) ที่ได้รับวัฒนธรรมการสูบบุหรี่มาในช่วงที่มีการล่าอาณานิคม ทำให้ในหมู่ชาวเมารีมีประชากรผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่อยู่ถึง 19.9% และมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคในระบบทางเดินหายใจสูงกว่าประชาชนนิวซีแลนด์ที่ไม่ใช่ชาวเมารี

istock-1162659937

เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการควบคุมให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ในนิวซีแลนด์ลดลงในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการแก้ไขมรดกปัญหาจากช่วงล่าอาณานิคม และเป็นความพยายามที่จะเพิ่มระดับคุณภาพชีวิต และยืดอายุขัยเฉลี่ยของชาวพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ด้วย

 

ใน 1 ปี โลกสูญมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 50 ล้านล้านบาทเพราะโรคจากบุหรี่

การสูบบุหรี่นอกจากจะเป็นการทำลายสุขภาพแล้ว ยังเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของทุกประเทศในระยะยาว เพราะมันสร้างค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข และทำให้แต่ละประเทศต้องเสียแรงงานที่ควรจะได้ทำงานป้อนภาษีให้รัฐเป็นจำนวนมากในแต่ละปี 

จากงานวิจัยขององค์กรอนามัยโลก (World Health Organization) การสูบบุหรี่สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 1.436 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 49.67 ล้านล้านบาทในปี 2012 ซึ่งคิดเป็นถึง 1.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ที่ทั้งโลกทำได้ในปีนั้น

โดยค่าเสียหายทางเศรษฐกิจนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1. ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข และต้นทุนทางการแพทย์ เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยในปี 2012 พบว่าระบบสาธารณสุขทั้งโลกมีการใช้จ่ายไปกับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคจากการสูบบุหรี่ถึง 4.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5.7% ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขทั้งหมดในปีนั้น
  1. การเสียผลิตภาพ (Productivity) ที่ควรจะได้จากเหล่าแรงงานที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 
  • ในปี 2012 พบว่าทั้งโลกมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่และรับควันบุหรี่ทั้งหมด 5 ล้านคน คิดเป็น 12% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในปีนั้น 
  • ทำให้มีจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการ ‘เสียชีวิต’ ของแรงงาน (Years Lost to Mortality) รวมทั้งหมด 18 ล้านปี และปีที่สูญเสียไปจากการที่แรงงาน ‘พิการ’ จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ (Years Lost to Disability) ทั้งหมด 8.8 ล้านปี

istock-1184802628

จากผลกระทบทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างภาระทางเศรษฐกิจให้กับหลายๆ ประเทศทั่วโลก และถ้าหากรัฐบาลใดสามารถออกนโยบายหรือออกมาตรการใดๆ ก็ตามมาลดอัตราการสูบบุหรี่ในประชากรได้ ประเทศนั้นๆ ก็จะมีเงินทุนเหลือมาใช้ในการพัฒนาด้านอื่นในอนาคต

 

คนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ 72,000 ราย

สูญมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 220,000 ล้านบาท

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขไทย ในปี 2017 มีคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ถึง 72,000 ราย โดยส่วนมากเป็นผู้ป่วยจากโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็งปอด ปอดเรื้อรัง และโรคหัวใจและหลอดเลือด และทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 220,000 ล้านบาท ในปีนั้น

ในปัจจุบัน อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังมีจำนวนมากอยู่ โดยในปี 2021 ประชากรที่สูบบุหรี่ในไทยคิดเป็น 17.4% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ลดจาก 19.1% ในปี 2017 และส่วนมากผู้สูบบุหรี่จะเป็นประชากร ‘ชาย’

โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2021 ประชากรชายไทยถึง 34.7% เป็นผู้สูบบุหรี่ และ 30.5% นั้นเป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัด คือสูบทุกวัน ทำให้มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดันต้นๆ ของชายไทย รองจากมะเร็งตับ 

 

 

ที่มา: BBC, วิจัย WHO, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, Smokefree

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT