อินไซต์เศรษฐกิจ

'ไทย' พุ่งอันดับ 4 ประเทศที่ได้รับอิทธิพล 'จีน' มากที่สุด

14 ธ.ค. 65
'ไทย' พุ่งอันดับ 4 ประเทศที่ได้รับอิทธิพล 'จีน' มากที่สุด

ไทยติดอันดับ 4 ประเทศที่ได้รับอิทธิพลจีนมากที่สุด นำโดยด้าน "กองทัพ การบังคับใช้กฎหมาย และเทคโนโลยี" ส่วนเพื่อนบ้านทั่วอาเซียน-เอเชีย ล้วนอยู่ในความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนทั้งสิ้น


ดัชนี China Index ประจำปี 2022 โดย Doublethink Lab องค์กรภาคประชาสังคมที่เน้นศึกษาปฏิบัติการด้านอิทธิพลของจีนร่วมกับเครือข่าย China In The World ได้เปิดเผยอันดับประเทศที่ได้รับอิทธิพลของจีนในปีล่าสุดออกมาแล้ว โดยมีรายชื่อ 10 อันดับแรก และ 3 หมวดหมู่ที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมากที่สุด ดังนี้ 

  1. ปากีสถาน -  เทคโนโลยี, การต่างประเทศ, กองทัพ
  2. กัมพูชา - การบังคับใช้กฎหมาย, กองทัพ, การต่างประเทศ
  3. สิงคโปร์ - เทคโนโลยี, วิชาการ, เศรษฐกิจ
  4. ไทย - กองทัพ, การบังคับใช้กฎหมาย, เทคโนโลยี
  5. เปรู - สังคม, สื่อ, กองทัพ
  6. (5 ร่วม) แอฟริกาใต้ - เทคโนโลยี, การต่างประเทศ, การเมืองภายใน
  7. ฟิลิปปินส์ - การเมืองภายใน, การบังคับใช้กฎหมาย, เทคโนโลยี
  8. คีร์กีซสถาน - เทคโนโลยี, การบังคับใช้กฎหมาย, การต่างประเทศ
  9. ทาจิกิสถาน - เศรษฐกิจ, การต่างประเทศ, เทคโนโลยี
  10. มาเลเซีย - การบังคับใช้กฎหมาย, เทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, สังคม 

หมายเหตุ: China Index วัดอิทธิพลของจีนในประเทศต่าง ๆ ใน 9 ด้าน ได้แก่ 1.การศึกษา 2.การเมืองในประเทศ 3.เศรษฐกิจ 4.นโยบายต่างประเทศ 5.การบังคับใช้กฎหมาย 6.สื่อมวลชน 7.การทหาร 8.สังคม และ 9.เทคโนโลยี จากหลักฐานข้อเท็จจริงที่รวบรวมและทบทวน


"ไทย" ติดอันดับ 4 จาก 82 ประเทศ

ในด้าน "กองทัพ" ซึ่งไทยได้คะแนนสูงที่สุดนั้น China Index ระบุว่า ไทยได้นำเข้ายุทโธปกรณ์จากจีน รวมทั้งมีสัญญาผลิตยุทโธปกรณ์ร่วมกับจีน โดยเมื่อปี 2017 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทยได้ตกลงสร้างโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศเพื่อการพาณิชย์ร่วมกับจีน ในจังหวัดขอนแก่น

ย้อนไปเมื่อปี 2020 จีนแสดงท่าทีสนใจสร้างฐานทัพในไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายขนส่งในมหาสมุทรอินเดีย ตามการเปิดเผยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นอกจากนี้ กองทัพจีนยังร่วมฝึกซ้อมกับกองทัพไทย รวมถึงซ้อมปฏิบัติภารกิจด้านการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และมีโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษากับกองทัพไทยด้วย

000_hkg10233272

ข้อมูลจากสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - ไทยเคยตกต่ำลงหลังเกิดรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2014 ทำให้สหรัฐฯ จำกัดความสัมพันธ์ด้านการทหารกับไทยในขณะนั้น จีนได้ใช้โอกาสดังกล่าวเพิ่มการฝึกทหารร่วมกับไทย และลงนามในสัญญาจัดซื้ออาวุธ 10 ฉบับ รวมถึงเรือดำน้ำพลังดีเซลไฟฟ้าสามลำ และรถถัง 48 คัน มูลค่า 1,030 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการจัดซื้อด้านกองทัพครั้งใหญ่ที่สุดของไทย

ทางด้าน "การบังคับใช้กฎหมาย" ไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกับจีน มีการจัดทำความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายกับจีน มีการซ้อมตำรวจชายแดนร่วมกับไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอื่น ๆ

thailand

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าจีนอาจส่งคำขอให้ไทยควบคุมตัวบุคคล เช่น การควบคุมตัว โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนส่งตัวกลับฮ่องกงเมื่อปี 2016 การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์มุสลิมในไทยเกือบ 100 คนกลับจีนเมื่อปี 2015 รวมทั้งส่งตัวแก๊งคอลเซนเตอร์ชาวไต้หวัน 25 คนไปดำเนินคดีในจีนเมื่อปี 2017

China Index กล่าวต่อว่า ไทยยังเนรเทศบุคคลไปยังจีน แม้การกระทำดังกล่าวจะถูกวิจารณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เมื่อปี 2015 ไทยเนรเทศนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวจีนกลับจีน แม้พวกเขาจะได้สถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติแล้วก็ตาม

ส่วนทางด้าน "เทคโนโลยี" นั้น บริษัทโทรคมนาคมของรัฐบาลจีน เช่น China Mobile และ ZTE Corporation ได้ให้บริการในไทย รวมถึงให้บริการสัญญาณ 5G นอกจากนี้ บริษัท China Shipbuilding Industry Corporation ของทางการจีน ยังตกลงร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารและยุทโธปกรณ์กับกองทัพบกไทยด้วย

รายงานระบุด้วยว่า ไทยได้ตกลงพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” กับจีนและญี่ปุ่น ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเมื่อปี 2020 จีนยังเปิดตัวระบบดาวเทียมระบุพิกัด Beidou-3Geo3 เพื่อแข่งกับระบบจีพีเอสของสหรัฐฯ โดยไทยเป็นหนึ่งใน 120 ประเทศที่ใช้บริการ Beidou เพื่อติดตามการเดินเรือ ใช้ในปฏิบัติการช่วยเหลือภัยพิบัติ และการบริการอื่น ๆ

 

ที่มา: China Index 2022, VOA News

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT