อินไซต์เศรษฐกิจ

กองทุนน้ำมันกู้เงิน 1.5 แสนล้าน อุ้มราคาพลังงานต่อไป หวั่นความเสี่ยง สงครามทำราคาพุ่งต่อ

26 ต.ค. 65
กองทุนน้ำมันกู้เงิน 1.5 แสนล้าน อุ้มราคาพลังงานต่อไป หวั่นความเสี่ยง สงครามทำราคาพุ่งต่อ

ปัญหาวิกฤตราคาพลังงานโลกถึงตอนนี้เรียกได้ว่ายังคงไม่ได้จบลงง่ายๆ หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อและส่งผลกระทบที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้อีกทุกเมื่อ ประกอบกับปลายปีกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวจะเป็นตัวแปรความเสี่ยงเข้ามาเร่งให้ราคาพลังงานแพงขึ้นได้อีก ทำให้ล่าสุด ครม. อนุมัติให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงิน 1.5 แสนล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ถึงการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) โดยเมื่อเดือนกันยายน 2565 ครม.ได้มีการอนุมัติให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของ สกนช.ว่า ในวันนี้ ครม.ได้เห็นชอบรายละเอียดแผนการกู้เงินดังกล่าว วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช่รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศ โดยจะดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

 

  • ส่วนที่ 1 การกู้ยืมในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ การกู้ยืมเงินจะทยอยดำเนินการเป็น 2 ครั้ง ภายในวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท โดยจะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566
  • ส่วนที่ 2 วงเงินกู้ส่วนที่เหลืออีก 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งทยอยดำเนินการ 5 ครั้ง (วงเงินที่ 3 ถึงวงเงินที่ 8) ภายในวงเงินรวม 1.2 แสนล้านบาท โดยจะดำเนินการกู้เงินได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะเรียบร้อยแล้ว โดยจะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ทั้งนี้ อาจเป็นการกู้ยืมเงินหรือการออกตราสารหนี้ตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ให้สามารถปรับเปลี่ยนแผนดังกล่าวได้ตามความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้น โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมภายใต้ กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท


สำหรับการชำระหนี้การกู้ยืมเงิน 1.5 แสนล้านบาท ของสำนักงานกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง มีแหล่งชำระคืนจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประมาณการกระแสเงินสด จะสามารถชำระ หนี้ได้ครบถ้วนภายใน 7 ปี โดยทยอยชำระหนี้คืนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบถ้วนภายใน เดือนตุลาคม 2572 ดังนี้

 

  • ส่วนที่ 1 การกู้ยืมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบถ้วน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
  • ส่วนที่ 2 การกู้ยืมวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และชำระหนี้ครบถ้วนภายในเดือนตุลาคม 2572


ขณะที่สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 16 ต.ค. 2565 มีสถานะติดลบ 125,690 ล้านบาท แต่เหตุการณ์ในปัจจุบันยังมีวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อและส่งผลกระทบที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565-ก.พ 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง และมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ขณะที่ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 และยังมีปัญหาอุทกภัยในปัจจุบัน

“กองทุนที่เกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาเสถียรภาพ และระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 มีรายจ่ายสุทธิประมาณ 222 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นรายเดือนประมาณ 6,882 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 23 ต.ค. 2565 มีตัวเลขติดลบไปแล้ว 1.27 แสนล้านบาท

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT