อินไซต์เศรษฐกิจ

2 ก.ค.2565 "25 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท" อดีตที่จะไม่ซ้ำรอย

2 ก.ค. 65
2 ก.ค.2565 "25 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท"  อดีตที่จะไม่ซ้ำรอย
ไฮไลท์ Highlight

2 กรกฎาคม 2565 เป็นวันครบรอบ 25 ปี ที่ทางการไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 การตัดสินใจในครั้งนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับในปี 2540 และไทยก็ได้มีการเรียนรู้และปรับมาตรการและกฎเกณฑ์มาป้องกันการซ้ำรอย จนทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ สถานะของสถาบันการเงิน และไม่มีภาวะเก็งกำไรในวงกว้างแบบในปี 2540

2 กรกฎาคม 2565 เป็นวันครบรอบ 25 ปี ที่ทางการไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 การตัดสินใจในครั้งนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทยจากเดิมที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับตะกร้าเงิน ที่ทำให้ค่าเงินไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง จนทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาท และเปลี่ยนมาเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่น สอดคล้องไปกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

 

ย้อนไทม์ไลน์ 25 ปีลอยตัวค่าเงินบาท 

ค่าเงินบาทของไทยก่อนถูกลอยตัวอยู่ราวๆ 25 ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากการประกาศลอยตัวแล้วค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ามากทีสุดในประวัติศาสตร์วันที่ 12 มกราคม 2541 ที่ระดับ 56.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  

  • ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2527
    ประเทศไทยขณะนั้นกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบตะกร้าเงิน ซึ่งความมีเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนของไทยบวกกับการเปิดเสรีทางการเงิน และการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว  เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล แต่อยู่ในลักษณะของเงินกู้ยืมระยะสั้น  การที่หนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนมีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการโจมตีค่าเงินบาท 


  • ธันวาคม 2539 เกิดคลื่นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทระลอกแรก
    หลังการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยของบริษัทมูดีส์ฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นผลให้มีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง


  • มกราคม - กุมภาพันธ์ 2540 เกิดคลื่นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทระลอกที่สองขึ้น
    มีข่าวลือเรื่องนโยบายการลดค่าเงินบาทแพร่กระจายในตลาด  เป็นแรงส่งให้มีนักเก็งกำไรต่างชาติเข้ามาไล่ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐและขายเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศต้องเข้าไปพยุงด้วยการขายดอลลาร์ที่อยู่ในทุนสำรองประเทศออกมาสู้เพื่อพยุงค่าเงิน  


  • พฤษภาคม 2540 เกิดคลื่นโจมตีค่าเงินบาทระลอกที่สามขึ้น
    การโจมตีค่าเงินบาทยังเกิดขึ้นเป็นระลอก แต่พ.ค.2540 ครั้งนั้นเป็นการโจมตีค่าเงินบาทที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย และกินเวลาต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงิน ธปท.จึงดำเนินการปกป้องค่าเงินบาท จนส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ลดลงเหลือเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่ 24.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.


  • 2 กรกฎาคม 2540 กระทรวงการคลังและ ธปท. จึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
    เมื่อทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือน้อยเข้าขั้นวิกฤติ ส่งผลทำให้ในที่สุดต้องประกาศ ลอยตัวค่าเงินบาท ยกธงขาวและเข้าสู่วิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”อย่างเต็มตัว  

 

ปลายเดือน กรกฎาคม 2540 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เริงชัย มะระกานนท์ ประกาศลาออกหลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดัน

สิงหาคม 2540 รัฐบาลไทยก็ได้ขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจาก “ไอเอ็มเอฟ” เพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศไม่ให้ล้มละลาย ภาพที่ตามมาจากนั้นคือการปิดตัวของสถาบันการเงินกว่า 50 แห่ง คนตกงานจำนวนมาก อดีตที่แสนเจ็บปวดที่ไม่ควนเกิดขึ้นอีก 

 

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากกลับมามองที่สถานการณ์ในปัจจุบัน จุดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ก็คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง และแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท ณ 24 มิ.ย. 2565 ซึ่งสามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน 

 

ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะ ผ่านมาตรการ อาทิ การกำหนดเกณฑ์ LTV ทำให้คลายกังวลต่อปัญหาดังกล่าวลงบางส่วน ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีต และการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม

 

เงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบันยังสอดคล้องกับเพื่อนบ้าน 

ส่วนเงินบาทปีนี้มีทิศทางอ่อนค่าก็ยังสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)หากดูในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน จะพบว่า แม้เริ่มมีภาพการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยหลังจากที่สหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งมีค่าความผันผวนอยู่ที่ประมาณ 4-6%

ดังนั้น สะท้อนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน ตลอดจนสถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัด ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงิน และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 

ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงแข็งแกร่ง 

สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยในวันนี้ มีสถานะแข็งแกร่งกว่าปี 2540 แต่ก็มีโจทย์ในเรื่องการประคองความสามารถในการทำกำไรให้กลับมาเทียบเคียงระดับก่อนโควิด พร้อมๆ กับการดูแลปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาวให้กับลูกหนี้

ขณะที่จุดอ่อนในภาคธนาคารที่เคยเป็นชนวนของวิกฤตสถาบันการเงินในช่วงปี 2540 ได้รับการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง การบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการและครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า รวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล (Basel III) ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน มีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก สะท้อนจากความมั่นคงของระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง

รวมถึงมีการจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก โดยสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.79% (ณ เมษายน 2565) ซึ่งสูงกว่าในช่วงปี 2540 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับต่ำกว่า 100% และสัดส่วน NPL ณ ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 2.93% ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับในปี 2540 และไทยก็ได้มีการเรียนรู้และปรับมาตรการและกฎเกณฑ์มาป้องกันการซ้ำรอย จนทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ สถานะของสถาบันการเงิน และไม่มีภาวะเก็งกำไรในวงกว้างแบบในปี 2540

อย่างไรก็ดี จากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ทั้งวิกฤตโควิด สงครามยูเครน-รัสเซีย ปัญหาราคาน้ำมันสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้โจทย์ที่สำคัญ คือ การช่วยประคองภาคครัวเรือนและธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ แรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ/ต้นทุนที่สูง และดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังจะขยับขึ้น พร้อมๆ กับการวางแนวทางรับมือกับโจทย์เชิงโครงสร้าง ทั้งระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น การยกระดับทักษะแรงงาน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต

 

ที่มาข้อมูล
https://www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000179023

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT