การเงิน

เงินบาทเสี่ยงอ่อนแตะ 38 บาท เงินเอเชียปั่นป่วน หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง

23 ก.ย. 65
เงินบาทเสี่ยงอ่อนแตะ 38 บาท เงินเอเชียปั่นป่วน หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง

หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ครั้งล่าสุดในวันที่ 21 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสกัดเงินเฟ้อของสหรัญที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี พร้อมทั้งส่งสัญญาณชัดเจนว่าเฟดจะใช้ยาแรงด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงขึ้นจากเดิมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้เงินเฟ้อที่เร่งตัว ส่งผลให้ตลาดเงินทั่วโลกมีความปั่นป่วนอย่างหนัก โดยเฉพาะค่าเงินสกุลเอเชียที่หลายอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ขณะที่บางสกุลอ่อนค่าร่วงลงอย่างหนักเป็นประวัติการณ์แล้ว

 

เตือนเงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าแตะ 38 บาท หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดี

เงินบาทอ่อนค่า

ขณะที่นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ให้สัมภาษร์กับทีมข่าว 'SPOTLIGHT' ว่า ค่าเงินสกุลเอเชียหลักของเอเชีย รวมค่าเงินบาทของบาทของไทยมีทิศทางอ่อนค่าลงค่อนข้างแรงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเอเชียบางสกุลเช่น เปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่าเป็นประวัติการณ์

รวมถึงค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงสูงสุดในรอบ 16 ปี หลังผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% ส่งผลให้เงินลงทุนต่างประเทศเคลื่อนย้ายออกจากตลาดสินทรัพย์ลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียไหลออกย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์

นอกจากนี้ในการประชุมดอกเบี้ยครั้งนี้เฟดยังปรับประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด(Fed Dot Plot) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่บ่งบอกเป้าหมายดอกเบี้ยของเฟด โดยส่งสัญญาณว่าเฟดจะเร่งดอกเบี้ยนโยบายแรงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 3.25% โดยในสิ้นปี 2565 จะปรับขึ้นสู่ระดับ 4.4% เพิ่มขึ้นจากกการประชุมครั้งก่อนที่ Fed Dot Plot ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3.4%

ดังนั้นในการประชุม FOMC ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงเหลือการประชุมอีกจำนวน 2 ครั้ง โดยเฟดน่าะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือน พ.ย. อีก 0.75% และในเดือน ธ.ค. นี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ยบโยบายอีก 0.50% ขณะที่ดอกเบี้ย Fed Dot Plot ในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 4.6% เพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนอยู่ที่ 3.8% โดยจะลดดอกเบี้ยลงในปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 3.9%

ทั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2566 โดยจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 ถือเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลการปรับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักสัดส่วนสูงถึง 80-90% ที่กดดันให้ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้ที่ผ่านมา

โดย ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY ยังให้ข้อมูลว่า ให้ติดตามการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐคือ การจ้างงานนอกภาคเกษตร( Nonfarm Payrolls) ของเดือน ก.ย. ปีนี้ที่ประกาศในวันที่ 7 ต.ค. นี้ และตัวเลขเงินเฟ้อของของเดือน ก.ย. ปีนี้ที่จะประกาศในวันที่ 13 ต.ค. ปีนี้ หากออกมาแข็งแกร่งก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเปรียบเทียบกับเงินสกุลเอเชียให้อ่อนค่า และมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนได้ โดยในระยะสั้นจากปัจจัยดังกล่าวกรณีร้ายแรงสุดอาจกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 38 บาทได้ซึ่งจะเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดใหม่ในรอบ 16 ปีอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังประเมินว่าค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันในกรอบกว้างระหว่าง 36-38 บาท โดยมีปัจจัยที่อาจสนับสนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าคือ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งในไตรมาส 4 โดยปกติจะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย

โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลจีนในการใช้โควิดเป็นศูนย์ (ZERO COVID-19) ที่จีนใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าและออกประเทศ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะหากจีนเปลี่ยนโยบายเปิดให้ชาวจีนเดินทางออกต่างประเทศได้ก็มีโอกาสที่ค่าเงินบาทอาจมีแนวโน้มกลับแข็งค่าขึ้นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามการแข็งค่าของดอลลาร์ที่มีผลกระทบจากนโยบายการเงินของเฟดด้วย ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะเห็นค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวผันผวนที่สูงในไตรมาส 4/2565

 

ธุรกิจเอกชนมองระยะกลางเงินบาทควรอยู่ที่ 35-36 บาท ช่วยหนุนการส่งออก

ส่งออกไทย


ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี โดยอ่อนค่าทะลุ 37 บาทกว่าต่อดอลลาร์นั้น สะท้อนว่ามีเงินทุนไหลออกจากการลงทุน โดยเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสหรัฐมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงถือว่าไม่ได้อ่อนค่าเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ และไทยก็ไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเท่าไร เพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ก็มีการอ่อนค่าลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ต้องจับตามมองความเคลื่อนไหวของเฟดอย่างใกล้ชิด

สำหรับค่าเงินบาทขณะนี้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด โดยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่เงินบาทที่อาจค่าก็มีผลกระทบทำให้ต้นทุนการนำเข้าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อต้นทุน ดังนั้น ภาคเอกชนต้องหาวิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมในระยะปานกลาง ควรอยู่ในระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นระดับที่ดีต่อการส่งออก และไม่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้มีความผันผวน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

advertisement

SPOTLIGHT