การเงิน

"ค่าเงินบาท" ร่วงแตะ 37 บาทแล้ว!อ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี

16 ก.ย. 65
"ค่าเงินบาท" ร่วงแตะ 37 บาทแล้ว!อ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี

"ค่าเงินบาท" ร่วงแตะ 37 บาท/ดอลลาร์แล้ว! อ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี นักวิเคราะห์ชี้เป็นผลจากนักลงทุนเก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง และอ่อนค่าลงตามเงินหยวนจีน


วันนี้ (16 ก.ย. 65) ค่าเงินบาทของไทยได้อ่อนค่าไปทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำสถิติอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 โดยเมื่อเวลาประมาณ 12.40 น. วันนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลงประมาณ 0.41%

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นไปถึงระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ในครั้งนี้ เป็นปัจจัยหลักมาจากฝั่งสหรัฐ เนื่องจากนักเก็งกำไรเข้าไปดักซื้อดอลลาร์รับข่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในสัปดาห์หน้า ที่คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยแรงอีกครั้ง

"ตลาดประเมินว่ามีโอกาสที่การประชุม FOMC วันที่ 20-21 ก.ย. นี้ จะขึ้นดอกเบี้ยในงวดนี้ถึง 1.0% เนื่องจากสหรัฐมีสัญญาณเศรษฐกิจหลายตัวที่ดีขึ้น จึงสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งขึ้นไป 0.75% ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปอีก" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทไทยยังเคลื่อนไหวไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาคโดยเฉพาะ "ค่าเงินหยวน" ของจีน ที่อ่อนค่าลงมามากในปีนี้ เพราะจีนซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจเบอร์ 2 กำลังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย สวนทางกับเศรษฐกิจเบอร์ 1 อย่างสหรัฐที่ใช้นโยบายการเงินตึงตัว (ขึ้นดอกเบี้ย) ดังนั้น ความต่างของนโยบายคนละด้านเช่นนี้จึงทำให้ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อค่าเงินในภูมิภาคด้วย ซึ่งวันนี้เอง (16 ก.ย. 65) เงินหยวนออฟชอร์อ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ไปแล้วในรอบ 2 ปี    

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าที่สุดแล้วค่าเงินดอลลาร์จะไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก และประเมินค่าเงินบาทไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ว่า จะเคลื่อนไหวอ่อนค่ากลับลงมาอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปในช่วงนี้ของสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงทางใดทางหนึ่ง โดยนอกจากการขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของคนโดยตรงแล้ว ก็ยังกระทบต่อภาระหนี้ของสหรัฐด้วย

ปัจจุบัน ตัวเลขหนี้ของสหรัฐทั้ง 3 ส่วนคือ หนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน พุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 270% ของจีดีพีสหรัฐไปแล้ว ดังนั้น การมาเร่งเครื่องขึ้นดอกเบี้ยในช่วงหลังจึงอาจกระทบเศรษฐกิจสหรัฐเอง ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นการแผ่วลงในตลาดซื้อขายบ้านแล้ว ขณะที่จีดีพีของสหรัฐเองก็เข้าสู่ภาวะถดถอยในเชิงเทคนิคแล้วเช่นกัน (จีดีพีติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน) 

ดังนั้น ปัจจัยในส่วนของสหรัฐเอง บวกกับปัจจัยในประเทศไทยที่คาดว่าอาจมีแรงกระตุ้นจากการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ที่ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาแล้ว แม้จะยังไม่ได้เยอะมากหรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ตัวเลขเดือนละล้านคนก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ทำให้คาดว่าเรื่องค่าเงินบาทในช่วงปลายปีนี้จะไม่ได้น่ากังวลมากนัก

ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวของบลูมเบิร์กว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าไปพยุงค่าเงินบาทสูงที่สุดเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ทำให้ทุนสำรองฯ ของไทยลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบันนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากประเทศมีการค้าขายลงทุนกับต่างประเทศและใช้เงนดอลลาร์ในสัดส่วนสูงถึง 90% จึงต้องมีการเข้าดูแลค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีฐานะทุนสำรองต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ 48% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

advertisement

SPOTLIGHT