การเงิน

รู้จัก CBDC เงินบาทดิจิทัล ออกโดยแบงค์ชาติ เริ่มทดสอบปลายปีนี้

5 ส.ค. 65
รู้จัก CBDC เงินบาทดิจิทัล ออกโดยแบงค์ชาติ  เริ่มทดสอบปลายปีนี้
ไฮไลท์ Highlight

ศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์อย่างบล็อกเชน (blockchain) ที่จริงแล้วมันมีความปลอดภัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน ที่สำคัญคือบล็อคเชนช่วยลดบทบาทตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดังนั้นธนาคารกลางทั่วโลกจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน และการออกใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริง ๆ 

ประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็กำลังพัฒนาระบบเงินบาทดิจิทัลอยู่เช่นเดียวกัน และในอนาคตมันจะถูกนำมาใช่อย่างแน่นอน วันนี้ทีมงาน SPOTLIGHT จะพาไปทำความเข้าใจ เงินบาทดิจิทัลแบบง่ายว่ามันคืออะไร และ คืบหน้าถึงไหนแล้ว 


CBDC คืออะไร?

CBDC ย่อมาจาก Central Bank Digital Currency คือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ในกรณีของไทย ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล” อาจจะเรียกว่า บาทดิจิทัล ก็ไม่ผิดอะไร 

 

CBDC สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  • สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC)
  • และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC)

 

ในกรณีการศึกษาและพัฒนาระบบ CBDC ในภาคสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งได้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2560 ชื่อ "โครงการอินทนนท์" เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ของการใช้ CBDC ในภาคสถาบันการเงิน

 

ทำไมธนาคารกลางสนใจออก CBDC สำหรับรายย่อยด้วย?

สาเหตุสำคัญคือ การเข้าถึงบริการทางการเงินที่สูงขึ้น แม้ว่าประชาชนคนนั้นจะไม่มีบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ก็ตาม การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบการเงินทั้งระบบของประเทศ ส่วนปัจจัยเร่งสำคัญคือ การพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งอาจลดทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้

 

CBDC ต่างจากเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และสเตเบิลคอยน์ (stable coin) อย่างไร?

 

ความแตกต่างสำคัญคือ “ผู้ออกใช้” และ “คุณสมบัติความเป็นเงิน” โดย CBDC ออกโดย “ธนาคารกลาง” ของแต่ละประเทศ และเข้าข่ายนิยามความเป็นเงินอย่างครบถ้วน คือ

1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

2) เป็นที่เก็บรักษามูลค่า คือมีมูลค่ามั่นคง และ

3) เป็นหน่วยวัดมูลค่าของทั้งสินค้าและบริการ

 

ในทางตรงกันข้าม คริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นด้วย “เทคโนโลยีบล็อกเชน” โดยมุ่งหวังเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทนที่เงินสกุลปกติ แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงินและไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขณะที่สเตเบิลคอยน์ เช่น ลิบร้า คล้ายกับคริปโทเคอร์เรนซี คือ ออกโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน และไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน แต่มีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน (เช่น ทองคำ) ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง

 

แล้วต่างจากพร้อมเพย์ และ e-Money ล่ะ?

พร้อมเพย์ คือ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการโอนเงินที่เรา ๆ ท่าน ๆ ฝากไว้ระหว่างตัวกลางคือ “ธนาคารพาณิชย์ ด้วยกัน ขณะที่ e-Money คือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยตัวกลางคือ “หน่วยงานเอกชน” (ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์และผู้ขออนุญาตอื่น ๆ) เช่น บัตรเติมเงินทางด่วน ทรูมันนี่ ดังนั้น ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเวลาเราเอาเงินบาทไปฝากที่ ธนาคารพาณิชย์ หรือซื้อ e-Money จะตกอยู่ที่ตัวกลาง ได้แก่ “ธนาคารพาณิชย์ ” และ “บริษัทเอกชน” นั้น ๆ

 

ในทางตรงกันข้าม CBDC ซึ่งเปรียบเสมือนเงินสดหรือธนบัตรแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ภาระหนี้จะไม่ได้อยู่ที่ตัวกลาง แต่อยู่ที่ธนาคารกลางโดยตรง ซึ่งถือว่าไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เลย

 

เมื่อไหร่จะได้ใช้ CBDC ระดับรายย่อยในไทย?

กำหนดการใช้กับรายย่อยยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่มีความคืบหน้าล่าสุดธนาคาคารแห่งประเทศไทย ที่เตรียมทดสอบระบบในช่วงปลายปี 2565 แล้ว ทำให้เราได้เห็นว่า เงินบาทดิจิทัล  เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคนแน่นอน

 

การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC1) เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินในอนาคต  นางสาววชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า

 

ธปท. เป็นธนาคารกลางแรก ๆ ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของ CBDC ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกสบายและมีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมกับต้นทุนที่ลดลง

 

นอกจากโครงการ Wholesale CBDC ต่าง ๆ และการทดสอบ Retail CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจในห้องปฏิบัติการ (Proof of Concept) แล้ว ธปท. ยังเห็นความจำเป็นที่จะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมทั้งกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ CBDC ในอนาคต

 

โดยแผนการทดสอบ Retail CBDC ระยะ pilot นี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

 

  1. การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย3 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการทดสอบนี้จะนำเทคโนโลยีของบริษัท Giesecke+Devrient4 มาประยุกต์ใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566

 

  1. การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และช่วยให้ ธปท. นำมาปรับปรุงการออกแบบ CBDC ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ธปท. จะเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ "CBDC Hackathon" ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม - 12 กันยายน 2565 โดยทีมหรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ จะได้รับคำปรึกษา (Mentoring) จากสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในโครงการอินทนนท์5 (ติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ ธปท.)

 

ธปท. ขอย้ำว่าการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้กับประชาชน โดย ธปท. ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้

 

นอกจากนี้ ธปท. ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการแอบอ้างในรูปแบบต่าง ๆ ว่าสามารถให้บริการ Retail CBDC ได้ หรือหลอกให้ลงทุนใน Retail CBDC ของ ธปท. เนื่องจากการทดสอบนี้ จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานที่ถูกระบุไว้ก่อนแล้วเท่านั้น

 

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย 

advertisement

SPOTLIGHT