ข่าวเศรษฐกิจ

'จีน'ประท้วงโควิดทั่วประเทศ จับตา 'สีจิ้นผิง' เอาอยู่หรือไม่

28 พ.ย. 65
'จีน'ประท้วงโควิดทั่วประเทศ จับตา 'สีจิ้นผิง' เอาอยู่หรือไม่

'จีน'ประท้วงโควิดทั่วประเทศ ชนวนจากไฟไหม้ตึกที่ถูกล็อกดาวน์ในซินเจียง หุ้นดิ่ง-น้ำมันลงแรงในรอบ 1 ปี จับตา 'สีจิ้นผิง' เอาอยู่หรือไม่ 


ข่าวที่ชาวจีนไม่พอใจมาตรการล็อกดาวน์โควิดอย่างเข้มงวดนั้น มีปรากฎให้เห็นบ้างประปรายมาตลอด แต่ก็ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่ถึงขั้นเป็นการรวมตัวประท้วงจริงจัง และขยายตัวลุกลามไปในหลายเมืองเท่ากับครั้งนี้มาก่อน  

สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ การประท้วงล็อกดาวน์โควิดรอบล่าสุดนี้ได้ขยายตัวไปถึงเกือบ 10 เมืองทั่วประเทศ และเป็นการประท้วงจริงจัง ถึงขั้นเรียกร้องให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบด้วย 

ทีมข่าว SPOTLIGHT ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาให้ดังนี้


จุดเริ่มต้นมาจากไหน?

- มาจากเหตุไฟไหม้อาคารแห่งหนึ่งในเมืองอูหลู่มู่ฉี หรือ อุรุมฉี (Urumqi) เมืองเอกของเขตปกครอง
ตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 24 พ.ย. ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 9 คน

ภาพจากวิดีโอที่แชร์บนโซเชียลมีเดียทำให้ชาวจีนจำนวนมากเชื่อกันว่า ผู้อยู่อาศัยในอาคารไม่สามารถหนีไฟได้ทันเวลา เนื่องจากอาคารถูกล็อกดาวน์บางส่วนเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีภาพอาคารบางส่วนถูกปิดตาย เพราะยึดมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด

แม้เจ้าหน้าที่ของเมืองจะปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถดับความโกรธแค้นของประชาชนส่วนหนึ่งได้ จนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์โควิดที่เข้มงวดในหลายเมืองตามมา

000_32va9yd
ชาวจีนในกรุงปักกิ่งร่วมวางดอกไม้ไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตที่ซินเจียง

การประท้วงเริ่มต้นอย่างไร ดำเนินไปถึงไหนแล้ว?


จากการรายงานของบลูมเบิร์ก การประท้วงได้ขยายวงไปยัง 9 เมืองทั่วประเทศ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง อู่ฮั่น เฉิงตู ซีอาน หนานจิง หลานโจว กว่างโจว และคัชการ์ 

ยังไม่มีสื่อไหนให้ข้อมูลได้แน่ชัดว่าการประท้วงเริ่มจากเมืองไหนเป็นแห่งแรก แต่จากการรายงานข่าวของสื่อตะวันตกหลายแห่งพบตรงกันว่า การประท้วงเกิดขึ้นพร้อมกันในวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา และยังมีขึ้นต่อเนื่องในช่วงเช้าวันจันทร์นี้   

ในกรุงปักกิ่งนั้น มีประชาชนและนักศึกษาหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมกัน ซึ่งรวมถึงที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยซิงหวา

ส่วนในเซี่ยงไฮ้ ที่มีการชุมนุมดุเดือดที่สุดนั้น ผู้ชุมนุมต่างชูป้ายและร้องตะโกนเรียกร้องให้ยกเลิกการปิดเมืองทั้งในอุรุมฉี เมืองอื่นๆ ในซินเจียง และทุกเมืองในจีนทั้งหมด ผู้ประท้วงยังมีการตะโกนข้อความ เช่น เรียกร้องให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ลงจากตำแหน่ง, ขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์, ให้ปลดล็อกซินเจียง, ไม่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (PCR), และต้องการเสรีภาพสื่อ


000_32v69ga

000_32uy7un
การประท้วงที่เซี่ยงไฮ้

การประท้วงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?


เบื้องต้นคือ ตลาดหุ้นและราคาน้ำมันโลก ปรับตัวลงเพราะข่าวประท้วงในจีนแล้ว แต่นักวิเคระห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเป็นปฏิกิริยาเชิงลบระยะสั้นเท่านั้นนิกเกอิ

เช้าวันนี้ (28 พ.ย. 65) ตลาดหุ้นใหญ่ๆ ในฝั่งเอเชียปรับตัวลงเกือบทุกตลาด นำโดยดัชนีฮั่งเสง ตลาดฮ่องกง ปรับตัวลงถึง 2.04% อยู่ที่ 17,212.82 จุด ตามมาด้วยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ตลาดเซี่ยงไฮ้ ปรับตัวลง 1.03% อยู่ที่ 3,069.66 จุด และดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ลดลง 0.52% อยู่ที่ 28,136.67 จุด 

ตลาดน้ำมันปรับตัวลงแรงเช่นกัน โดยลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส สหรัฐ (WTI) ลดลง 1.32 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.7% มาอยู่ที่ 76.62 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 1.61% มาอยู่ที่ 83.97 ดอลลาร์/บาร์เรล  



รัฐบาลจีนมีปฏิกิริยาอย่างไร? 

จ้าว ลี่เจี้ยน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวหาว่ากลุ่มคนต่างชาติเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงในหลายเมืองช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ รัฐบาลเลือกที่จะไม่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายม็อบ พอกันกับที่ม็อบเป็นไปอย่างค่อนข้างสงบในหลายพื้นที่ ยกเว้นที่ เซี่ยงไฮ้ ที่มีจำนวนผู้ชุมนุมเยอะ มีความพยายามสลายการชุมนุม และมีภาพข่าวตำรวจลากผู้ชุมนุมบางรายออกไป รวมถึงมี
รายงานข่าวว่าช่างภาพของ BBC ถูกตำรวจจีนทุบตีและเตะ ระหว่างการทำข่าวประท้วงมาตรการล็อกดาวน์โควิดที่เซี่ยงไฮ้ โดยคลิปทางสื่อโซเชียลเผยภาพนาย เอ็ดเวิร์ด ลอว์เรนซ์ ถูกกดลงกับพื้นแล้วล็อกกุญแจมือ จากนั้นถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมา 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการประท้วงในเมืองต่างๆ แต่อย่างใด



การประท้วงจะบานปลายรุนแรงเป็นการประท้วงใหญ่ หรือไม่?

ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และไม่น่าจะมีโอกาสนั้นเกิดขึ้น

แม้ว่าการรวมตัวประท้วงในจีนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะการประท้วงพร้อมกันในหลายเมือง แต่หลายคนทราบดีว่าการประท้วงในจีนเป็นเพียง "สัญลักษณ์" ของการส่งสัญญาณความไม่พอใจ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะจีนยังคงเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ที่คำนึงถึงเรื่องความมั่นคงของชาติเหนือสิ่งอื่นใด และจะไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่บานปลายเข้าขั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงเกิดขึ้น 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิดในจีนยังคงมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้ และมีผู้เสียชีวิตบางรายแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นความชอบธรรมให้จีนยังใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดต่อไป 

มาร์ติน เพทช์ รองประธานของ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส (Moody's) ให้มุมมองกับบลูมเบิร์กว่า เขาคาดว่าการประท้วงจะจบลงเร็ว และไม่เกิดการปะทะกันทางการเมืองอย่างรุนแรง แต่ถ้าหากการประท้วงยืดเยื้อและรัฐบาลใช้กำลังรับมือ ก็อาจสะเทือนเครดิตความน่าเชื่อถือของจีน จนกระทบกำลังซื้อในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแรงลงอยู่แล้ว "ถึงแม้ว่ามูดีส์จะไม่ได้มองแบบนั้นก็ตาม"

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT