ข่าวเศรษฐกิจ

รัฐมนตรีเอเปคไฟเขียว 'แถลงการณ์ร่วม' รับรอง 'เป้าหมายกรุงเทพฯ' 4 ข้อ

18 พ.ย. 65
รัฐมนตรีเอเปคไฟเขียว 'แถลงการณ์ร่วม' รับรอง 'เป้าหมายกรุงเทพฯ' 4 ข้อ

วันที่ 18 พ.ย. 2565 นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แถลงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่ารัฐมนตรีจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ได้ออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม (Joint Statement) โดยสามารถบรรลุข้อตกลงของเขตเศรษฐกิจเอเปคในการนำ BCG Model มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเห็นพ้องว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซีย "ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก" แต่ไม่ได้รวมความขัดแย้งทางการเมืองมาไว้ในการประชุมครั้งนี้

นายเชิดชาย กล่าวว่า การร่วมออกแถลงการณ์ร่วมในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และเป็นการแถลงการณ์ร่วมในระดับรัฐมนตรีที่มีความสำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้งเอเปคในปี 1989 เพราะเป็นการเห็นพ้องต้องกันต้องเขตเศรษฐกิจในหลายประเด็น ทั้งแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และความคิดเห็นในเรื่องความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงทำให้การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ปิดฉากแบบไร้แถลงการณ์ร่วม

โดยในข้อที่ 7 ของแถลงการณ์ร่วม สมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงแม้เวทีการประชุมเอเปคจะไม่ใช่เวทีหารือเรื่องประเด็นความมั่นคง สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบที่ร้ายแรงมากต่อเศรษฐกิจโลก และเรียกร้องให้รัสเซียถอนทัพออกมาจากเขตแดนของยูเครน และระบุ สมาชิก “ส่วนมาก” ประนามการก่อสงครามในยูเครน เพราะสงครามนี้ทำให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้รับความทุกข์ทรมาน และทำให้เศรษฐกิจโลกที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วมีความเปราะบางมากยิ่งขึ้นโดยการก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกชะงัก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารและทางการ

นายเชิดชายกล่าวว่าผู้นำในที่ประชุมมีการหารือในหัวข้อต่างๆ มากมาย แต่หัวข้อที่ได้รับความสำคัญมากที่สุดคือ 1. ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร 2. ปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน และการสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 3. BCG Model ซึ่งเป็นโมเดลที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพผลักดันในการประชุมเอเปคครั้งนี้

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงประเด็นผลสำเร็จจากการหารือรัฐมนตรีเอเปค ประจําปี 2022 ว่าที่ประชุมมีฉันทามติในเรื่องสำคัญประกอบด้วย

1. เห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อน “Bangkok Goals on BCG Model” หรือขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯเรื่อง BCG

2. เห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค พัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรี( FTA) ต่อไปในอนาคต ซึ่งถ้าสำเร็จมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเปค หรือ FTA-AP ขึ้นมาจะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค :Regional Comprehensive Economic Partnership)

3. เห็นพ้องร่วมกันการขับเคลื่อนหัวข้อ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. ซึ่งแต่ละเรื่องมีรายละเอียดแต่ละหัวข้อที่เห็นพ้องกันว่าควรขับเคลื่อนไปทางไหน

4. ถือว่าการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถออกถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค (2022 APEC Joint Ministerial Statement) ได้

ทั้งนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จในการทำหน้าที่เจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ของประเทศไทย สามารถบรรลุเป้าหมายได้ทุกข้อ อย่างน้อยก็ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT