ข่าวเศรษฐกิจ

คลังนัดถกธปท. กระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ขยายเวลาแพ็คเกจ อย่างน้อย 1 ปี

1 ก.ค. 65
คลังนัดถกธปท. กระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ  ขยายเวลาแพ็คเกจ อย่างน้อย 1 ปี
ไฮไลท์ Highlight
  • คลังเตรียมขยายเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกอย่างน้อย 1 ปี ทั้งลดนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง
  • เตรียมนัดถก ธปท. ช่วยผ่อนคลายเกณ์กู้ซื้อบ้านให้ง่ายขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมขยายเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกอย่างน้อย 1 ปี ทั้งมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ซึ่งจากเดิมสิ้นสุดสิ้นปี 2565

 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) ที่กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสรุปอีกครั้ง

 

“มาตรการของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะจบสิ้นปี 2565 ต้องรอดูสถานการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือไม่ เราจะไปหารือกับแบงก์ชาติ กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อขยายอายุมาตรการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นอีกเครื่องยนต์ในการผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นด้วย”

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีบ้านมือสองเข้ามาอยู่ในตลาดมากขึ้น เพราะการระบาดของโควิด ทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ กระทบต่อรายได้ประชาชน อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ที่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งรัฐบาลได้ขยายวงเงินการปล่อยสินเชื่อ จาก 1.2 ล้านบาท เพิ่มเป็นสูงสุด 1.5 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ราคาบ้านในท้องตลาด

 

“บ้านล้านหลัง ภาครัฐให้อัตราดอกเบี้ย 1.99% คงที่นาน 4 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ โดยสามารถผ่อนได้นานถึง 40 ปี สามารถขอเข้าร่วมโครงการได้ถึงปี 2566 ซึ่งหากแบงก์เอกชนจะมาเข้าร่วมการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ เช่นเดียวกับโครงการดังกล่าว ก็ยินดี”


สำหรับกรณีที่ธนาคารกลางสหัฐ (เฟด) ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถือเป็นแรงกดดัน และเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าดอกเบี้ยในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นด้วยนั้น

 

กระทรวงการคลังได้กำชับให้สถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด หรือหากจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ขอให้ไม่ปรับขึ้นเต็มที่ เพื่อให้กระทบกับลูกค้าน้อยที่สุด

 

“แบงก์รัฐจะตรึงดอกเบี้ยนานแค่ไหน จะต้องรอดูสถานการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงใด ส่วนกรณีที่ ธอส.บอกว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน ต.ค.นั้น จะอยู่ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ส.ค. อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังมีความไม่แน่นอน ต้องรอติดตามนโยบายของ กนง. อีกครั้งว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงใด”

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT