ข่าวเศรษฐกิจ

ดอกเบี้ยไทยไม่เร่งขึ้นตามเฟด ธปท.และคลัง ย้ำเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย

20 พ.ค. 65
ดอกเบี้ยไทยไม่เร่งขึ้นตามเฟด   ธปท.และคลัง ย้ำเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย
ไฮไลท์ Highlight
"ผู้ว่าแบงค์ชาติ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะปรับตัวสูงถึง 4.9%เกินกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโต 3.2% ขณะที่ปี 64 โต 1.6%   โดยการเกิด Stagflation ต้องประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อสูง ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว"

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงว่า ในส่วนของ ธปท.เอง มีการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายการเงิน รวมถึงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด

 

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท. จะพิจารณาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก 3 ด้าน คือ 1.อัตราเงินเฟ้อ 2.เสถียรภาพระบบการเงิน และ 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยเรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่ตัดทิ้ง ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น ทำให้ ธปท. จำเป็นต้องจับตาใน 2 ประเด็น คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย แต่ในขณะนี้ในภาพรวมของเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่พบความผิดปกติหรือน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังมีความเข้มแข็ง เพราะหนี้ต่างประเทศไม่สูงมาก อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย



สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ ยังมีความผันผวนสูง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะจากทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินหยวนของจีน โดยตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงไป 3% แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคู่แข่ง และยังเป็นทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนี้อาจจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในระดับต่ำ

  

"ผู้ว่าแบงค์ชาติ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะปรับตัวสูงถึง 4.9%เกินกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโต 3.2% ขณะที่ปี 64 โต 1.6%   โดยการเกิด Stagflation ต้องประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อสูง ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว"

 

 

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง บอกว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกประสบปัญหาและส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการเงิน ที่ต่างมีความเชื่อมโยงกันหมด

  

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นร่วมกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ สร้างดีมานด์ในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้น จึงทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยไม่ได้รุนแรงมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

 

รมว.คลังบอกด้วยว่า ในสถานการณ์โควิด-19 นโยบายการคลังกับนโยบายการเงินต้องสอดประสานกัน นโยบายการเงินก็ต้องดูในเรื่องต้นทุนการเงิน การพักชำระหนี้ การเติมเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ส่วนนโยบายการคลัง ก็ต้องมีมาตรการเยียวยา เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน, เราชนะ, คนละครึ่ง ซึ่งเป็นต้นทุนของรัฐบาลที่ไม่มีใครสามารถแบกรับแทนได้ ทำให้จำเป็นต้องมีการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการในการใช้นโยบายการคลัง ดูแลภาคประชาชน ธุรกิจ ซึ่งต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกันหมด และไทยเองก็ไม่ได้สูงที่สุด

ายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง



เมื่อมองไปข้างหน้า ยังมีต้นทุนอีกอย่างที่เข้ามาผ่านการเติมสินเชื่อเข้าระบบ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ทั้งธนาคารเอกชนและธนาคารของรัฐ แต่กรณีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะได้เปรียบ เพราะรัฐบาลเข้าไปชดเชยให้ในกรณีหนี้เสีย 30-40% และก็มีการยกเว้นภาษีให้ในช่วงเวลา 2 ปี ดังนั้น รัฐบาลจะมีต้นทุนในการดูแลประชาชนและธุรกิจรวม 1.5 ล้านล้านบาท และในส่วนที่ลดภาษีให้ ไม่ใช่เฉพาะต้นทุนจากการกู้เงินเท่านั้น

 

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญกระทรวงการคลังจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ในภาวะที่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ยอมเลือกที่จะเติบโตช้า แต่ว่าเป็นการเติบโตที่มั่นคง โดยมุ่งพัฒนา 3 ด้าน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ 1.มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลเทคโนโลยี 2.สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2030 และ 3.การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคสาธารณสุข

 

"ทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้การสนับสนุน ทั้งจากการออกมาตรการภาษี การให้สินเชื่อ ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลในเรื่องของ Finance Sustainable หรือความยั่งยืนด้านการคลัง ไม่ใช่จ่ายออกเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีรายได้ มีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการ" รมว.คลัง กล่าว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT