ข่าวเศรษฐกิจ

ส่งออกผลไม้ไทยลดพึ่งจีน! พาณิชย์ลุยตลาดใหม่ ปั้นไทยเป็นศูนย์ผลไม้เอเชีย

26 เม.ย. 65
ส่งออกผลไม้ไทยลดพึ่งจีน! พาณิชย์ลุยตลาดใหม่  ปั้นไทยเป็นศูนย์ผลไม้เอเชีย

"กระทรวงพาณิชย์'เปิดแผนปั้นไทยศูนย์ผลไม้เอเชีย หวังลดความเสี่ยงพึ่งจีน เตรียมลุยหาคู่ค้า-เปิดตลาดใหม่ๆ เพราะปัจจุบัน ผลไม้ส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างประเทศมากกว่า 90% ส่งออกไปประเทศจีน,เวียดนาม,ฮ่องกง โดยผู้ส่งออกชาวจีนมาตั้งล้งในพื้นที่


โดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดเพจ "สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก"ภายใต้โครงการยกระดับตลาดผลไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยนายชัยรัตน์ บุญส่ง พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี ในนามพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก

 

ประกอบด้วยจังหวัด จันทบุรี, ตราด, สระแก้ว, ปราจีนบุรี, นครนายก, ระยอง, ชลบุรี และฉะเชิงเทรา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก มีศักยภาพเป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย กล้วยไข่ สับปะรด สละ ชมพู่ ขนุน มะยงชิด มะม่วง ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจหลักของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก

 

สำหรับผลไม้ไทยส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปต่างประเทศ มีสัดส่นมากกว่า 90% ที่ส่งออกไปประเทศจีน, เวียดนาม, และฮ่องกง โดยผู้ส่งออกชาวจีนมาตั้งจุดรวบรวม (ล้ง) ในพื้นที่ และผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ จะรวบรวมส่งผลผลิตให้ผู้ส่งออกชาวจีน ซึ่งอาจทำให้คนไทยเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าผลไม้

 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ส่งออกชาวจีน อาจจะร่วมกันกำหนดราคารับซื้อผลไม้ที่ไม่เป็นธรรม หรือตลาดต่างประเทศที่มีการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้า หรือกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวด เช่น ในปี 2562 กำหนดให้โรงคัดบรรจุผลไม้ต้องได้รับมาตรฐาน GMP และแปลงเพาะปลูกจะต้องได้รับมาตรฐาน GAP เป็นต้น ทำให้การส่งออกผลไม้มีความยุ่งยากมากขึ้น มีสินค้าตกค้างในประเทศ และราคาผลไม้ตกต่ำในบางช่วงเวลา

 

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและส่งเสริมด้านการตลาด จึงเสนอขออนุมัติโครงการยกระดับตลาดผลไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย ภายใต้แผนปฏิบัติราชการของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ได้มีโอกาสแสวงหาคู่ค้ารายใหม่และเปิดตลาดใหม่ๆ

 

พร้อมทั้งจัดหากิจกรรมรองรับหากมีสินค้าล้นตลาดภายในประเทศ โดยกระตุ้นให้มีการบริโภคภายในประเทศ ในส่วนของกิจกรรมที่จัดขึ้นในโครงการฯ ได้แก่

 

1. กิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาทักษะ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ภายในประเทศ เมื่อวันที่ 1-2 มี.ค. ที่ผ่านมา ผ่านการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ มีผู้ประกอบการภาคตะวันออกเข้าร่วมทั้งสิ้น จำนวน 50 ราย และจัดทำเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก” เพื่อเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคตะวันออกที่เข้าร่วมอบรมฯ

2. กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) กับต่างประเทศในวันนี้ (25 เม.ย.) มีผู้ประกอบการภาคตะวันออกเข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 30 ราย เป็นการเจรจาออนไลน์กับประเทศกัมพูชา จีน และสวิตเซอร์แลนด์

 

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยปลูกผลไม้ 57 ชนิด มูลค่าการส่งออกราว 4.5 หมื่นล้านบาท ในแต่ละปี การส่งออกผลไม้ไทยกระจุกอยู่ที่ 3 ชนิด คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด โดยส่งให้กับตลาดใหญ่เพียง 2 แห่ง คือ จีนและเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ข้อมูลการพยากรณ์ผลไม้ตะวันออกของสินค้า 4 ชนิด ปี 2565 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองในพื้นที่ 3 จังหวัด (จันทบุรี ระยอง ตราด) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 27% หรือคิดเป็น 1.14 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 9 แสนตัน

 

“ดังนั้น การจัดโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรในภาคตะวันออก ได้อบรมพัฒนาทักษะ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ภายในประเทศ ต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดทำเพจ “สุดยอดผลไม้ตะวันออก” เพื่อสร้างโอกาสในการหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดหลักเพียงอย่างเดียว รวมถึงกระตุ้นให้มีการบริโภคภายในประเทศ จึงเป็นโครงการที่มีประโยชน์ และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT