ข่าวเศรษฐกิจ

คนกรุงอ่วม! รายได้ต่ำกว่า 15,000 หนักสุด ของแพง ทำค่าใช้จ่ายเพิ่ม20%

18 ม.ค. 65
คนกรุงอ่วม! รายได้ต่ำกว่า 15,000 หนักสุด ของแพง  ทำค่าใช้จ่ายเพิ่ม20%
ไฮไลท์ Highlight
คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 36%  เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20%  เป็นกลุ่มคนที่กระทบหนักที่สุดกว่ากลุ่มอื่นค่าครองชีพที่ทยอยปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ในระยะสั้น คนกรุงเทพฯ วางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจ คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เดือดร้อนสุด กับสถานการณ์ของแพง เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20%  และคนกรุงเชื่อว่า ภาวะนี้จะลากยาวมากกว่า 1 ปี โดยผลสำรวจพบ ความสามารถในการรับมืออยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงน้อย เสนอรัฐ แก้ปัญหาทั้งโครงสร้างการผลิต

 

17 ม.ค.65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่น่าจะกระทบจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้สะดุดลงอย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 มีผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ราคาไข่ไก่ ราคาน้ำมันพืช ราคาพลังงาน ตลอดจนราคาค่าสาธารณูปโภค หรือ ค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ ภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้บริโภคบ้างแล้ว เช่น มาตรการตรึงราคาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาแก๊สหุงต้ม ราคาเนื้อไก่ โครงการหมูธงฟ้า เป็นต้น แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหมวดค่าอาหาร เช่นเนื้อสัตว์ ผักสด ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารปรุงสำเร็จ และอาหารนอกบ้าน รวมไปถึงค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า และ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันค่าขนส่งสาธารณะ

 

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า

คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ประมาณ 36%  เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20%  เป็นกลุ่มคนที่กระทบหนักที่สุดกว่ากลุ่มอื่นค่าครองชีพที่ทยอยปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ในระยะสั้น คนกรุงเทพฯ วางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

  • 89% เลือกซื้อของเท่าที่จำเป็น, ชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
  • 52% ลดกิจกรรมสังสรรค์
  • 44% เลือกซื้อสินค้าที่ทดแทนกันได้ในราคาถูกลง เช่น สินค้ามือสอง, สินค้าแบรนด์รอง
  • 22% ซื้อสินค้าครั้งละมาก ๆ เพื่อประหยัดต้นทุน โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น

ดังนั้น โดยธุรกิจที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบหนักน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ยิ่งจะกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจดังกล่าวในระยะถัดไป

มื่อพิจารณาถึงความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรก คือ

  1. ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในหลายประเภทมากขึ้น เช่น ราคาอาหารสดประเภทอื่นๆ เช่น อาหารทะเล ของใช้ในชีวิตประจำวัน และราคาพลังงาน
  2. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
  3. ขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ที่สิ้นสุดลงตั้งแต่ ก.ย 2564

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน ผู้บริโภคต้องการให้ช่วยเหลือดังนี้

  1. ผู้ประกอบการชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า
  2. เพิ่มการจัดโปรโมชั่นกิจกรรมลดราคาสินค้าให้ถี่ขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น อาหารปรุงสำเร็จ ของใช้ส่วนตัว เป็นต้น
  3. ลดปริมาณสินค้า หรือ Resize แทนการปรับขึ้นราคาหากจำเป็น

ส่วนในระยะข้างหน้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงมองว่า สถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นน่าจะยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น และกว่า 50% คาดว่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นน่าจะยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น และ52% คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะลากยาวมากกว่า 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการรับมืออยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงน้อย

ข้อเสนอแนะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า  ภาครัฐและเอกชนควรเร่งมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ให้ตรงจุด ตลอดจนควรเพิ่มโอกาสการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่มปริมาณหมูในนตลาดผ่านการสนับสนุนเงินทุนและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรมากขึ้น การใช้มาตรการควบคุมและเฝ้าระวังโรดระบาดในสัตว์ต่างๆ อย่างเข้มงวด การเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ภาคธุรกิจจะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคและสร้างโอกาสการเติบโตในระยะถัดไปเช่น ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้า แทนการปรับขึ้นราคา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต๊อกสินค้า รวมถึงการนำฐานข้อมูลลูกค้า มาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการได้แม่นยำมากขึ้น เป็นต้น

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT