ข่าวเศรษฐกิจ

ยืนยันไทยพบอหิวาต์หมู ASF ด้านครม.อนุมัติงบเยียวยา 574 ล้าน

11 ม.ค. 65
ยืนยันไทยพบอหิวาต์หมู ASF ด้านครม.อนุมัติงบเยียวยา 574 ล้าน

กรมปศุสัตว์ เตรียมประกาศไทยพบโรค ASF หลังพบเชื้อในตัวอย่างจากนครปฐม ด้านที่ประชุม ครม. อนุมัตมัติงบกลางช่วยเยียวยาเกษตรกร 574 ล้านบาท

 

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) กล่าวว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ แล้วเพื่อรับทราบผลการตรวจพบเชื้อ ASF จาก 1 ตัวอย่างที่เก็บมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม จากตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บมา 309 ตัวอย่าง ซึ่งได้รับการยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

 

 

 

ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว กรมปศุสัตว์เห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรค ASF และรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ต่อไป

 

 

ก่อนหน้านี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบไประยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตรวจสอบต้องเป็นไปตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากลเพื่อได้ขั้นตอนครบถ้วนละเอียดรอบคอบ รอบด้าน เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบ เมื่อรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลได้ครบถ้วน จะรายงานให้สาธารณชนทราบ ตามความเป็นจริง โดยจะไม่มีการปกปิดหรือปิดบังใดๆ

 

 

ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการด่วนจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น คือ จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม ในวันที่ 8-9 ม.ค. 2565 โดยเข้าตรวจ 10 ฟาร์ม และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง รวมทั้งหมด 309 ตัวอย่าง

 

 

โดยในวันที่ 8 ม.ค. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง และวันที่ 9 ม.ค. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 4 ฟาร์ม 109 ตัวอย่าง และ 2 โรงฆ่า 4 ตัวอย่าง เพื่อเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกรที่ฟาร์ม และจากบนพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์ จากผลการวิเคราะห์ตัวอย่างทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบว่ามีผลบวกเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง จากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม

 

 

หลังการพบเชื้อ ชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยา ถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการเกิดโรค ASF ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มาตั้งแต่ต้น

 

 

ล่าสุดได้ประสานหารือและทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรคแล้ว ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

 

สำหรับการดำเนินงานกรณีตรวจพบโรคในประเทศ กรมปศุสัตว์จะต้องดำเนินการประกาศเป็นเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค ร่วมกับจะต้องพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรคการเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งการขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์จะต้องแจ้งการพบโรคไปยัง OIE เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบ

 

 

ท้ายที่สุดนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรในการดำเนินตามมาตรการควบคุมโรคโดยเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็วเหมือนดังที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมโรคอย่างเช่น โรคไข้หวัดนก และยืนยันว่าสุกรที่เป็นโรค ASF ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคยังสามารถรับประทานเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส

 

 

หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

 

 

ครม.อนุมัติงบ 574 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรที่ต้องทำลายหมูจากโรค ASF

ทางด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติประมาณรายจ่าย รายการงบกลาง ปี 65 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท ในการป้องกันการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) หลังจากที่เกษตรกรได้มีการทำลายสุกรไปแล้วในช่วง 23 มี.ค.-15 ต.ค. 2564 แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา รวม 4,941 คน คิดเป็นจำนวนสุกร 1.59 แสนตัว รวมพื้นที่ทั้งหมด 56 จังหวัด

 

 img_50395_2022011107345200000

"จะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. - 15 ต.ค. 64 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 แล้ว" โฆษกรัฐบาลกล่าว

 

 

โดยการอนุมัติงบกลางฯ ในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้

 

  • ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี
  • ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว
  • ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร
  • ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
  • ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา

 

 

นายธรกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบ สำรวจโรคตามหลักวิชาการ และมาตรฐานสากล พร้อมชี้แจงให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ที่สำคัญต้องลดความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะผู้บริโภคในขณะนี้ให้มากที่สุด

 

 

อย่างไรก็ดี การแพร่ะระบาดโรค ASF มีมากว่าร้อยปีแล้ว แต่ยังไม่มีวัคซีนและยาป้องกันหรือรักษาโรคได้ ซึ่งกรมปศุส้ตว์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันทำวิจัยในการพัฒนาวัคซีน โดยมีความคืบหน้าไปแล้ว 60-70% คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ในปีนี้ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตวัคซีนโรค ASF ได้

 

 

นายธนกร ยังกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการแก้ปัญหาสินค้าแพงทุกชนิดอย่างเป็นระบบครบวงจร พร้อมทั้งสั่งการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว และดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาหมูแพงได้ หมูอาจจะล้มรัฐบาลก่อนครบวาระนั้น นายกรัฐมนตรีถามกลับว่าใครเป็นคนวิเคราะห์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่นำประเด็นเหล่านี้ไปสร้างปัญหาเกี่ยวพันไปเรื่อย

 

 

ส่วนกรณีมีหนังสือจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ส่งถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อแจ้งเหตุการพบไวรัส ASF ในประเทศไทย แต่กลับไม่ถึงมือ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ จะต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายธนกร กล่าวว่า เรื่องนี้ให้สอบถามข้อเท็จจริงจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมปศุสัตว์

 

 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตบทบาทการทำงานของ รมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรฯ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งดูเหมือนเกียร์ว่างนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐมนตรีทุกคนก็ทำงานอย่างหนัก แต่อาจจะมีการสื่อสารน้อยไป จึงขอให้มีการประสัมพันธ์ให้มากขึ้น

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT