ข่าวเศรษฐกิจ

เวิลด์แบงก์ ปรับเพิ่ม GDP ไทย ปี 65 การบริโภค ท่องเที่ยวฟื้น

14 ธ.ค. 64
เวิลด์แบงก์ ปรับเพิ่ม GDP ไทย ปี 65 การบริโภค ท่องเที่ยวฟื้น

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2565 เป็นเติบโต 3.9% จากเดิมที่คาดไว้จะเติบโต 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1% จากนนั้นในปี 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% เนื่องจากได้ปัจจัยแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคน

โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีและเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะมีผลต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 2565 ได้ราว 2% และ ในปี 2566 ได้ราว 4%

ทั้งนี้ประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วหลังเผชิญผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 และเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/64 ทั้งนี้ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ในปลายปี 2565 โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการส่งออกและมาตรการภาครัฐ หลังสามารถกระจายการให้บริการวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้ทั่วถึงมากขึ้นใกล้เคียง 70% ของประชากรทั้งหมดภายในปีนี้


โดยทำให้อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง แต่ระบบเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การกระจายตัวของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่การผลิต ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้


ขณะที่ตลาดแรงงานยังมีความเปราะบาง มีการย้ายฐานจากแรงงานภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตรกรรม แต่มาตรการภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้สามารถช่วยประคับประคองไว้ได้

สำหรับภาวะหนี้สาธารณะของประเทศมีสัดส่วน 58.1% ของจีดีพีในปี 2563 จะขยับเพิ่มเป็น 62.2% ของจีดีพีในปี 2564 และ 61.6% ของจีดีพีในปี 2565 ซึ่งอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 70% ของจีดีพีได้ โดยธนาคารโลกเห็นว่ายังมีพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม


ส่วนมาตรการการให้เงินเยียวยารวมถึงการเริ่มด้านสาธารณสุข โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการสนับสนุนด้านการคลังในรูปแบบอื่นๆ ได้ช่วยหนุนอุปสงค์ของภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการบริโภคในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และช่วยลดผลกระทบของวิกฤตความยากจนด้วย


นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 พร้อมกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้บริการดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงเกิดการแพร่ระบาดเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเดินทาง มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจต่างๆ ช่วยส่งเสริมการค้าขายและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น มีการค้าดิจิทัลเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในประเทศไทย ที่ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ได้


ขณะที่รัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะผลักดันวาระดิจิทัลภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและธุรกิจดิจิทัล ได้แก่


1.ความพยายามส่งเสริมการแข่งขันและสร้างสภาวะแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมนั้นมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดและเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบดิจิทัล

2.ความพร้อมของทักษะดิจิทัล พร้อมกับทักษะที่จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เช่น การจัดการและบริหารองค์กร

 

3.การขยายการเข้าถึงนวัตกรรมของแหล่งเงินทุนจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ในการใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัล

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT