ข่าวเศรษฐกิจ

หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือน พ.ย. สูงขึ้นทั่วไทย! ได้ผลดีรัฐบาลคลายล็อคดาวน์-เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

9 ธ.ค. 64
หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือน พ.ย. สูงขึ้นทั่วไทย! ได้ผลดีรัฐบาลคลายล็อคดาวน์-เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพ.ย. 64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย. 2564 ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 28.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 19.9 ในเดือน ต.ค. 2564

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 27.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่ 19.5, ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 28.7 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่ 20.8, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 32.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ที่ 23.8, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 28.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ที่ 20.1, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 27.5 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่ 19.4 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 25.9 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่ 17.1

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นทุกรายการ มาจากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์เพื่อรองรับมาตรการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เข้ามาประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในประเทศเป็นไปตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับ 33.037 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 เป็น 33.482 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2564

ขณะที่ปัจจัยลบ มาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ถึงแม้จำนวนยอดติดเชื้อจะลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอนาคตหากสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาในประเทศ, ความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาล็อกดาวน์ หากมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน, ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยไตรมาสที่ 3/64 ติดลบ 0.3% โดยคาดว่าจีดีพี ปี 2564 จะขยายตัวได้ 1.2%, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมือง และสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง และความกังวลด้านสภาพคล่องในการเปิดดำเนินกิจการของธุรกิจ หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการบางส่วน อีกทั้งผู้ประกอบการยังรู้สึกว่ารายได้จากการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. กระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ให้กลับมาคึกคักในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวสิ้นปี
2. มาตรการรับมือและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ หากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาด
3. เร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดในรูปแบบที่ปลอดภัยช่วงเทศกาล
4. ต้องการให้รัฐดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเปิดกิจการและมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากมาตรการสาธารณสุข
5. มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการมาอย่างยาวนาน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน พ.ย.2564 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 44.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 43.9 ในเดือน ต.ค. 2564 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 38.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 41.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 54.5

โดยมีปัจจัยบวก คือ 1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อรองรับการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว 2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/2564

3. การฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิดระดับโลกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการฉีดวัคซีนในประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

4. ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งโครงการเราชนะ, ม.33 เรารักกัน, คนละครึ่ง เฟส 3, ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น 5. การส่งออกไทยเดือน ต.ค. 2564 ขยายตัวได้ 17.35% ที่มูลค่า 22,738 ล้านดอลลาร์ 6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน, ยางพารา และมันสำปะหลัง 7.ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" ที่แพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ 2. ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัด ทั้งพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

3.ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง 4. ข้าวมีราคาต่ำ ส่งผลให้เกษตรมีรายได้ไม่สูง และกระทบต่อกำลังซื้อของหลายจังหวัด

5. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3 ปี 2564 ติดลบ 0.3% และคาดว่า GDP ทั้งปี 2564 จะขยายตัวได้ 1.2% ส่วนแนวโน้ม GDP ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% 6. ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.2564 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค.2564 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตรายวันในประเทศเริ่มมีแนวโน้มลดลง

ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการคลายล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอย และท่องเที่ยวมากขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาสที่ 4 ปีนี้เป็นต้นไป และน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้สามารถขยายตัวได้ในระดับ 1-1.5%

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT