ข่าวเศรษฐกิจ

รถไฟลาว-จีน เปิดแล้ว !ความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจลาว

4 ธ.ค. 64
รถไฟลาว-จีน เปิดแล้ว !ความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจลาว
ไฮไลท์ Highlight
เจ้าหน้าที่ลาว บอกว่า ทางรถไฟนี้จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง เพิ่มการส่งออก และนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เมื่อการระบาดของโควิด-19 สงบลง และมีการเปิดพรมแดนอีกครั้ง สอดคล้องกับ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อวันพุธว่า โครงการระดับเรือธงนี้จะช่วย “ส่งเสริมกลยุทธ์ของลาวในการเปลี่ยนตนเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้เป็นศูนย์กลางทางบก”  

4 ธ.ค.64 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เส้นทางรถไฟลาว-จีน หรือ เส้นทางรถไฟลานช้าง เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งตรงกับที่ทาง สปป.ลาว จะเฉลิมฉลองวันชาติ 46 ปีอีกด้วย  โดยเส้นทางวิ่งของรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงสถานีบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาซึ่งใกล้กับชายแดนจีน

 

  • รวมระยะทาง 414 กิโลเมตร ประกอบด้วยสะพาน 77 แห่ง และอุโมงค์ข้ามทะลุภูเขาจำนวน 75 แห่ง เป็นรางรถไฟทางเดี่ยว (single track) ที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานรอไว้สำหรับการวางทางคู่ (dual tracks) ได้ในอนาคต โดยระยะห่างระหว่างรางเป็นระยะมาตรฐาน (standard gauge) 1.435 เมตร สามารถทำความเร็วในการเดินทางสำหรับขบวนรถไฟผู้โดยสารได้สูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงสำหรับขบวนรถไฟขนส่งสินค้า วิ่งผ่านทั้งหมด 10 สถานี ซึ่งแผนใหญ่สำหรับรถไฟความเร็วสูงนี้มีจะวิ่งไปที่จีน  แต่อีกฟากจะมีเส้นผ่านประเทศไทยไปยังมาเลเซียสิ้นสุดที่สิงคโปร์ในอนาคตอีกด้วย

 .

 

  • ส่วนมูลค่าการก่อสร้าง 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาล สปป.ลาว กู้เงินจากธนาคารเพื่อการนำเข้า-ส่งออกของจีน (China EXIM Bank) จำนวน 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ วิสาหกิจร่วมทุน Lao-China Railway กู้เงินจาก China EXIM Bank จำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 .

ใช้เวลา 5 ปีในการก่อสร้าง ถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระดับเมกะโปรเจกต์ที่จีนลงทุนสร้างนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งทางของจีน (One Belt , One Road ) โดยรัฐบาลเวียงจันทร์คาดหวังให้เส้นทางรถไฟสายนี้ เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรถไฟสามารถเชื่อมต่อกับคุนหมิงให้ลาวเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น

 

จ้าหน้าที่ลาว บอกว่า ทางรถไฟนี้จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง เพิ่มการส่งออก และนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เมื่อการระบาดของโควิด-19 สงบลง และมีการเปิดพรมแดนอีกครั้ง สอดคล้องกับ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อวันพุธว่า โครงการระดับเรือธงนี้จะช่วย “ส่งเสริมกลยุทธ์ของลาวในการเปลี่ยนตนเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้เป็นศูนย์กลางทางบก”

 

เจเรมี ซูค ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดเรตติ้งของ ฟิทช์เรทติ้งส์ ประจำเอเชียแปซิฟิก เผยกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ข้อเสียของรถไฟสายนี้คือมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นคำถามคือส่วนต่างเหล่านี้สมเหตุสมผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจในแง่ของการคุ้มต้นทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่

 .

ยกตัวอย่าง กรณีท่าเรือที่จีนสร้างในเมืองฮัมบันโตตา ของศรีลังกา แต่สุดท้ายรัฐบาลโคลอมโบก็ประสบปัญหาการชำระหนี้ และต้องจำยอมให้กับบริษัทไชน่า เมอร์ชานท์ พอร์ต โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลจีน ด้วยการเช่าท่าเรือดังกล่าวเป็นระยะเวลานับสิบ ๆปี

 

นักวิเคราะห์จึงตั้งคำถามว่า ลาวจะสามารถชำระหนี้มูลค่า 1.06 พันล้านดอลลาร์อย่างไร และพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งที่ทันสมัยนี้แค่ไหน

 

 

ด้าน เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ตั้งคำถามว่า ภาคเอกชนของลาวสามารถใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งนี้มากน้อยเพียงใด นี่ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่สำหรับเศรษฐกิจที่ใช้การยังชีพทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่มีชนชั้นพ่อค้าขนาดใหญ่

 

ธนาคารโลกระบุว่า ลาวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิดระบาด การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเหลือ 0.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ ซึ่งเวิลด์แบงก์มองว่า รถไฟสายนี้อาจสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของลาวได้ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบการจัดการชายแดนด้วย

 

ก่อนหน้านี้ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร บอกว่า ปัจจุบันเส้นทางรถไฟลาวจีน ยังไม่ได้เปิดให้ประเทศอื่นขนส่งสินค้าได้ หากประกาศให้มีการขนส่งสินค้าอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการไทยสนใจจะส่งออกสินค้าเกษตรด้วยรถไฟมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

ซึ่งทั้งจีน และสปป.ลาว ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 จะมีการขนส่งสินค้าทุกประเภทผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าว 8 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 15 ล้านตันต่อปี ในปี 2573 และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านตันต่อปี และภายในปี 2583 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.5% ต่อปี โดยกระทรวงเกษตรฯ จะติดตามความคืบหน้าของความพร้อมในเส้นทางขนส่งนี้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT