สินทรัพย์ดิจิทัล

"คนไทย" เทรดบน FTX มากสุดอันดับ 13 ในบรรดารายชื่อ 30 ประเทศ

23 พ.ย. 65
"คนไทย" เทรดบน FTX มากสุดอันดับ 13 ในบรรดารายชื่อ 30 ประเทศ

"คนไทย" เทรด FTX สูงสุดอันดับ 13 ของโลก เดือนละ 130,000 คน ขณะที่ชาวคริปโท "เกาหลี-สิงคโปร์-ญี่ปุ่น" เป็น 3 ชาติที่เทรดหนัก-เจ็บหนักสุด 

 
ปัญหาที่แพลตฟอร์มเทรดคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่อย่าง FTX เจ๊งจนต้องยื่นล้มละลาย ยังคงเป็นฝันร้ายที่ความจริงค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมาทีละนิดทีละหน่อย ให้คนทั่วโลกชวนอึ้งกันไปตามๆ กันว่า มันเกิดช่องโหว่ที่แทบไม่ต่างอะไรกับ "การฉ้อโกง" แบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร 

ล่าสุดมีการเปิดเผย "เหยื่อ" เป็นรายประเทศ เมื่อเว็บไซต์ Gecko เปิดเผยรายชื่อ 30 ประเทศที่มีอัตราการเข้าแพลตฟอร์ม FTX.com รายเดือนสูงที่สุด ระหว่างเดือน ม.ค.- ต.ค. 2022 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า "เอเชีย" คือภูมิภาคที่มีคนแห่เข้าไปเล่นในกระดานนี้มากที่สุด

เฉพาะแค่ 3 อันดับแรก นำโดย "เกาหลีใต้" 2.972 แสนราย "สิงคโปร์" 2.417 แสนราย และ "ญี่ปุ่น" 2.235 แสนราย ก็คิดเป็นสัดส่วนถึง 16% ของปริมาณการเทรดทั้งหมดของแพลตฟอร์มนี้เข้าไปแล้ว 

ส่วน "ประเทศไทย" นั้นถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางเหมือนกัน ในอันดับที่ 13 โดยมีจำนวนคนเทรดอยู่ที่เกือบ 130,000 คนต่อเดือน ซึ่งหมายความว่าการล้มละลายของ FTX ทำให้มีคนไทยบาดเจ็บ(ทางตรง) มากถึง 1.3 แสนรายเลยทีเดียว เฉพาะแค่แพลตฟอร์มเพียงที่เดียวเท่านั้น 

artboard1copy2(6)


ถึงเวลารัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องล้อมคอก?

กรณีของ FTX ซึ่งถือเป็นการ "ซ้ำ" แผลเดิมของวงการคริปโทเคอร์เรนซีที่ยังไม่หายดีจากเคส Terra LUNA และ UST เมื่อช่วงกลางปีนี้ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาถกเถียงกันมากขึ้นแล้วว่า อาจถึงเวลาต้องออกกฎควบคุมเรื่องการลงทุนคริปโทมากขึ้น

"เกาหลีใต้" นับเป็นประเทศที่บอบช้ำมากที่สุดทั้งจากเคส FTX งวดนี้ และจากเคส Terra ที่เป็นบริษัทของคนในบ้านตัวเองอย่าง "โด ควอน" ซึ่งตอนนี้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรปเรียบร้อยแล้ว 

เกาหลีใต้มีประชากรทั้งหมด 52 ล้านคน แต่มีคนเข้าไปเทรดใน FTX.com ถึง 3 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 6.1% ของกระดานเทรดนี้ ซึ่งสะท้อนถึงกระแสที่ชาวเกาหลีแห่ตอบรับการลงทุนใหม่มากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย แต่เมื่อเกิดความเสียหายก็จะเจ็บหนักสุดกว่าใครด้วย และเคส FTX ก็เป็นสัญญาณเร่งให้รัฐบาลเกาหลีใต้รีบดำเนินการวางระเบียบกฎเกณฑ์ให้ "เร็วขึ้นกว่าเดิม"

ที่จริงแล้ว เกาหลีใต้เพิ่งจะมีการผ่านกฎหมายฉบับใหม่ออกมาที่ชื่อว่า Digital Asset Basic Act (DABA) หรือกรอบระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลฉบับใหม่ที่มีความรัดกุมขึ้น โดยเพิ่งออกมาเมื่อเดือน มิ.ย. 2022 ภายหลังเกิดเคสปัญหาของ Terraform Labs ในเดือน พ.ค. 

คิมโซยัง รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการทางการเงิน (FSC) ของเกาหลีใต้ ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการคุ้มครองนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ก็ไม่สามารถรอระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานร่วมของโลก เหมือนอย่างด้านการค้าและการลงทุนได้ จึงต้องรีบออกระเบียบกฎเกณฑ์ของประเทศตนเองออกมาใช้ก่อน และกลายเป็นกฎหมาย DABA ออกมาในที่สุด 

แต่ปัญหาก็คือ แม้กฎหมายฉบับนี้กำลังจะเริ่มมีผลบังคับใข้ในปีหน้า 2023 แต่ก็อาจจะ "ไม่ทันการณ์" ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ที่ทุกอย่างเคลื่อนไหวรวดเร็วราวติดจรวด ทั้งรวยเร็ว และเจ๊งเร็วพอๆ กัน โดยเฉพาะหลังจากที่แพลตฟอร์มใหญ่ระดับ FTX ล้มละลาย ซึ่งทำให้ช่วงเดือนธันวาคมหรือ 1 เดือนสุดท้ายของปี 2022 นี้ อาจจะมีความเสียหายอีกมากมายตามมาจาก "โดมิโน เอฟเฟกต์" ก็เป็นได้ 

ด้าน "สิงคโปร์" อาจถือเป็นประเทศที่ตอบรับคริปโทดียิ่งกว่าเกาหลีใต้เสียอีก หากเทียบสัดส่วนคนที่เข้าไปเทรดในกระดาน FTX.com เป็นอันดับ 2 ในสัดส่วนประมาณ 5% ของกระดาน ทั้งที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 5.5 ล้าน คนเท่านั้น 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวสิงคโปร์เข้าไปเล่นในกระดานนี้เยอะกว่าใคร เป็นเพราะ Binance กระดานเทรดเบอร์ 1 ของโลก ได้ปิดให้บริการในสิงคโปร์ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2021 ทำให้ผู้เล่นหลายรายย้ายไปเล่นใน FTX 

คนที่บาดเจ็บก็ไม่ได้มีแค่นักลงทุนรายย่อยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ระดับ Temasek Holdings ที่เป็นถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสิงคโปร์ (Sovereign Wealth Fund: SWF) อีกด้วย โดยมีการเปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า เทมาเส็ก มีการลงทุนใน FTX ประมาณ 275 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ "ญี่ปุ่น" คิดเป็นสัดส่วนการเทรดใน FTX ประมาณ 4.6% โดยที่ภาครัฐและบรรดาบริษัทในญี่ปุ่นกำลังพยายามหาทางป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงขยายวงกว้างออกไป

บริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ SoftBank ที่เป็นหนึ่งในนักลงทุนสถาบันเหมือนกับเทมาเส็ก ก็ได้ลงบัญชีตัดจำหน่าย (Write-off) ที่ลงทุนกับ FTX ไป 100 ล้านดอลลาร์แล้ว ส่วนแพลตฟอร์มเทรดคริปโท Liquid ที่เพิ่งถูก FTX ซื้อไปเมื่อต้นปีนี้เพื่อใช้เป็นฐานเจาะตลาดประเทศญี่ปุ่น ก็รีบประกาศระงับการถอนเงินแล้ว ขณะที่คณะกรรมการการเงินของญี่ปุ่น (FSA) ก็ได้ออกประกาศตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. ให้ FTX Japan ระงับการดำเนินธุรกรรมในประเทศแล้ว และสั่งห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน-หนี้สินในญี่ปุ่นออกนอกประเทศ 

และนี่ก็อาจเป็นเพียงความเคลื่อนไหวเล็กๆ เพื่อล้อมคอกสถานการณ์เฉพาะหน้า ก่อนที่จะนำไปสู่การคุมเข้มจริงจังมากขึ้นหลังจากนี้ในปีหน้า! 

advertisement

SPOTLIGHT