สินทรัพย์ดิจิทัล

คริปโทฯ ไม่ควรใช้จ่ายเป็นเงิน ชี้ตลาดผันผวนสูง วัดมูลค่าเป็นจำนวนเงินได้ยาก

29 ก.ย. 65
คริปโทฯ ไม่ควรใช้จ่ายเป็นเงิน ชี้ตลาดผันผวนสูง วัดมูลค่าเป็นจำนวนเงินได้ยาก

นายคณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน "BOT Symposium 2022 หัวข้อ "เงิน สัญญา และสเตเบิลคอยน์" ว่า แม้ว่าปัจจุบันตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) จะแพร่หลายไปทั่วโลกในขณะนี้

แต่ต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายเป็นเงินเหมือนเงินรูปแบบอื่นได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่เหมาะนำมาใช้เป็นมาตรวัดค่า (Unit of Account) และในปัจจุบันจึงอาจจะยังไม่เหมาะที่จะใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงิน

ส่วนการสร้าง Stablecoin มีหลายรูปแบบ เช่น การก่อหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Collateralized Debt Position: CDP) คล้ายกับการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์แล้วเบิกจ่ายเป็นยอดเงินฝากในบัญชี (เช่น DAI, MIM) หรือการพิมพ์ธนบัตรของรัฐที่ใช้ทุนสำรองเงินตราหนุนหลัง

โดยใช้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน Smart Contract ว่า การสร้าง Stablecoin ดอลลาร์หนึ่งหน่วยจะต้องนำสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าหนึ่งดอลลาร์มาแลก และการทำลาย (ขาย) Stablecoin ดอลลาร์หนึ่งหน่วยจะได้รับสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าหนึ่งดอลลาร์กลับมา เป็นที่มาของคำว่า Algorithmic เพราะมีสมการ "รับประกัน" ว่า Stablecoin หนึ่งหน่วย สามารถแลกสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าหนึ่งดอลลาร์ได้พอดีทุกครั้งไป จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น


สำหรับเงินเป็นสิ่งที่คนในสังคมตกลงและกำหนดร่วมกันให้สิ่งนี้มีค่า นับว่าเป็นสัญญาที่คนในสังคมได้กำหนดร่วมกันไว้ ซึ่งเงินสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่

  1. เงินนอก (Outside Money) เป็นสัญญาประชาคม (Social Contract) ที่มูลค่าของสิ่งที่กำหนดอาจเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมได้ เช่น ทองคำ หรือวัตถุต่าง ๆ ที่กำหนดให้มีค่า
  2. เงินใน (Inside Money) เป็นสัญญาทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Contract) ที่มูลค่าขึ้นอยู่กับความสามารถและความยินยอมในการชำระหนี้

และสิ่งที่ทุกคนล้วนเคยใช้นั่นก็คือ เงินสด ซึ่งเงินสดถือว่าเป็นสิ่งที่มีความพิเศษทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่

  1. เงินสดเป็น Token Money ถ้าถือเป็นเจ้าของแล้ว สามารถนำไปใช้จ่ายได้เลยในทันที ไม่ต้องยืนยันตัวตน
  2. เงินสดมีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อของอีกฝ่าย ก็สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้
  3.  เงินสดสามารถใช้จ่ายได้ทันที ไม่ต้องขออนุญาตใครและไม่ต้องใช้ฐานข้อมูล ซึ่งทั้งหมดถือเป็นประโยชน์ของเงินสดที่สามารถจับต้องได้ในเชิงกายภาพ

ขณะที่เงินดิจิทัลไม่มีสัญญลักษณ์ทางกายภาพดังกล่าว ที่สำคัญเงินดิจิทัลมีอุปสรรคสำคัญอยู่ที่การบันทึกข้อมูล เพราะเป็นไปได้ยากที่จะให้ความไว้วางใจในการบันทึกข้อมูลและการให้ฐานข้อมูลทำงานได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น

ดังนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้บันทึกข้อมูลจะไม่กีดกันการเข้าสู่ระบบ หรือ ผู้บันทึกข้อมูลจะไม่กระทำสิ่งใดโดยพลการ ซึ่งทางผู้ประกอบการในวงการสกุลเงินดิจิทัลก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การบันทึกข้อมูลลักษณะบล็อกเชน (Blockchain) ทำให้มีระบบบันทึกและจัดเก็บข้อมูลที่กระจายศูนย์ (Distributed) ได้ และเมื่อไม่มีผู้ใดมีอำนาจผูกขาดในการบันทึกข้อมูล อีกทั้งมีการกระจายอำนาจการบันทึก (Decentralized) ด้วย ก็ทำให้ธุรกรรมมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ความถูกต้องของข้อมูลจึงเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT