สินทรัพย์ดิจิทัล

เปิด 6 ข้อคุมเข้มผู้ประกอบการ "เตรียมห้ามใช้คริปโตซื้อสินค้า"

25 ม.ค. 65
เปิด 6 ข้อคุมเข้มผู้ประกอบการ "เตรียมห้ามใช้คริปโตซื้อสินค้า"

ธปท.-คลัง-ก.ล.ต. ยกร่างหลักเกณฑ์คุมการใช้คริปโตชำระค่าสินค้าและบริการ เปิด 6 ข้อห้ามคุมผู้ประกอบการเข้ม แต่อาจเหลือช่องทางให้ใช้ Stablecoin ได้ คาดมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้หลังจบเฮียริ่ง 8 ก.พ.

 

       วันนี้ (25 ม.ค. 2565) ​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึงเรื่องการ "กำกับดูแลและควบคุม" การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ และได้เปิดเผย "ร่างหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ" ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.(บอร์ด) เบื้องต้น

 

ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีด้วยกัน 6 ข้อ ดังนี้

  1. ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย Digital Asset ได้
  2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วย Digital Asset
  3. ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย Digital Asset
  4. ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขาย Digital Asset เพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น
  5. ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน Digital Asset/เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
  6. ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ Digital Asset มาใช้เป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment)

 

websl_27

 

เปิดบทลงโทษปรับ 3 แสนบาท

  •  ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต.ภายใน 15 วัน หลังประกาศมีผลบังคับใช้ ส่วนในกรณีร้านค้าและผู้ประกอบการที่จับมือร่วมกันอยู่แล้วจะต้องปฏิบัติตามภายใน 15 วัน

 

  • กรณีหากไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าว จะมีโทษตามมาตรา 30 ของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่มีการระบุการลงโทษมาตรา 67 หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกระวางโทษปรับวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะดำเนินแก้ไขตามเกณฑ์ และค่าปรับอีก 300,000 บาท

 

  • กรณีหากพบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชี Digital Asset ไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องแจ้งเตือนและพิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขาย Digital Asset ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขาย Digital Asset หรือระงับบัญชี

 

       นอกจากนี้จะมีการพิจารณาความผิดผู้บริหารประกอบธุรกิจ หากไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีก็จะมีความผิดในส่วนของตัวผู้บริหารด้วย ขณะที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศที่เข้ามาบริการในประเทศไทย หากมีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และไม่ได้รับใบอนุญาต(เถื่อน) จาก ก.ล.ต. ก็จะดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 1 ราย

 


พร้อมบังคับใช้หลังเฮียริ่ง 8 ก.พ.65

 

       ทั้งนี้ ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ร่างหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ก.ล.ต. ก็จะดำเนินการออกประกาศและบังคับใช้ได้ภายในเร็วๆ นี้ แต่หากมีข้อเสนอแนะที่กระทบต่อหลักการก็จะมีการเสนอบอร์ด ก.ล.ต.เพื่อพิจารณาต่อไป

       น ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ให้ความสำคัญและกังวลต่อความเสี่ยงของการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยปัจจุบันเริ่มแพร่หบายมีการใช้กันมากขึ้น จึงได้หารือกัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่าไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาแลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าและบริการ และจะมีการออกเกณฑ์กำกับดูแลต่อไป

 


อาจเปิดทางให้ใช้ Stablecoin

       นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. กล่าวว่า ธปท.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ เช่น Stablecoin ที่มีการหนุนหลังด้วยมูลค่าเงินตรา ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศกำลังพิจารณาอยู่ และจะนำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่จะเปิดบริการได้

 


Exchange หวั่นปิดกั้นรายได้เข้าประเทศ

       ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานผู้บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ประเทศไทย ผู้ประกอบการศูนย์กลางการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เปิดเผยกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการออกกฎหมายดังกล่าวออกมา โดยมองว่าหากมีผลบังคับใช้จริง จะเป็นการปิดโอกาสภาคธุรกิจของเอกชนไทย และการพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศไทย

 


websl_72

 


       ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการที่อนุญาตให้สามารถใช้คริปโตเคอเรนซีในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้นั้น ในอีกด้านคือการอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย ไม่ต้องแลกเงินเข้ามา จึงไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมในการแลกเงินบาท โดยสามารถใช้คริปโตเคอเรนซื้อสินค้ากับร้านค้าหรือศูนย์การค้าต่างๆ ที่เปิดรับชำรค่าสินค้าเป็นคริปโตเคอเรนซีให้มี ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจที่มีโอกาสจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังมีโอกาสที่จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย

       "ส่วนตัวผมมีความเข้าใจว่าดีว่า หน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงการคลังกับ ธปท. มีความกังวลว่าการใช้คริปโตเคอเรนซีมาชำระซื้อสินค้าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบการชำระเงินของประเทศ โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นคือ

1.กรณีความผันผวนขึ้นลงของราคาคริปโตเคอเรนซีที่มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขายสินค้าที่รับคริปโตเคอเรนซี
2.กรณีที่การนำคริปโตเคอเรนซีมาใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน แต่ก็ไม่เห็นด้วยถ้าออกกฎหมายออกมาห้ามไม่ให้ใช้คริปโตเคอเรนซีซื้อของได้ เพราะเป็นการปิดโอกาสอของประเทศที่จะมีรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้นและการพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินได้ดีขึ้นด้วย"

       อย่างไรก็ดี ยังมีความเห็นสนับสนุนให้สามารถนำคริปโตเคอเรนซีมาใช้ชำระซื้อสินค้าได้แบบมีมาตรการควบคุมดูแลหรือกำหนดเงื่อนไข โดยในช่วงเริ่มต้นอาจทดลองใช้งานในวงจำกัดรูปแบบแบบ Sandbox โดยอาจกำหนดให้ผู้ประกอบการขายสินค้ารายใหญ่ของประเทศไทยได้เข้ามีโอกาสในการทดลองรับชำระค่าสินค้าด้วยคริปโตเคอเรนซี ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อสินค้าโดยกรณีชาวต่างชาติที่ต้องการใช้คริปโตเคอเรนซีซื้อสินค้าอาจกำหนดเงื่อนไขดังนี้

  1. ผู้ใช้งานต้องเปิดบัญชีผ่านกระบวนการในการทําความรู้จักลูกค้า ทีสามารถ ระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง(KYC) กับองค์กรที่มีการรับรองถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้สามารถตรวจสอบธุรกรรมย้อนหลังได้
  2. อาจจำกัดวงเงินในการใช้งานต่อวันเช่นไม่เกิน 10,000 บาทต่อวัน เพื่อป้องกันการเป็นเครื่องสำหรับการฟอกเงิน

       นอกจากนี้ หากออกกฎหมายสั่งห้ามไม่ให้ใช้คริปโตเคอเรนซีในการซื้อสินค้าตามที่อยู่ระหว่างเฮียริ่งประกาศออกมาใช้จริง จะมีผลกระทบต่อเนื่องให้บริษัทผู้ประกอบการศูนย์กลางการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตลาดซื้อขายคริปโตเคอเรนซี จะต้องพิจารณาปิดหรือระงับบัญชีของลูกค้าที่มีการใช้บัญชีโอนคริปโตเคอเรนซี เพื่อทำการซื้อขายสินค้าด้วย


       ทางด้าน น.ส. วิมลพรรณ วิบูลย์มา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการสื่อสาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงต้องรอความชัดเจนของการออกกฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างการเฮียริ่ง โดยหากกอกมาบังคับใช้จริง ก็พร้อมปฏิบัติตามให้ถูกต้อง อย่างไรก็ดี มองว่าหากกฎหมายนี้ออกมาใช้จริงภาคธุรกิจและประเทศไทยอาจสูญเสียโอกาสในการพัฒนาด้านเทคโลยี รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาไทยสามารถจะใช้คริปโตเคอเรนซีซื้อสินค้าได้

 

advertisement

SPOTLIGHT