ธุรกิจการตลาด

ปตท.สผ. เล็งซื้อหุ้นก๊าซเมียนมาต่อ หลัง "โททาล-เชฟรอน" ถอนตัว

24 ม.ค. 65
ปตท.สผ. เล็งซื้อหุ้นก๊าซเมียนมาต่อ หลัง "โททาล-เชฟรอน" ถอนตัว

ปตท.สผ. แจงอยู่ระหว่างตัดสินใจหาแนวทางต่อ หลังจาก "โททาล-เชฟรอน" 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในแหล่งก๊าซพม่าถอนตัวจากปัญหาสิทธิมนุษยชน ด้านแหล่งข่าวเผย สผ.ตุนเงินสดพร้อม สามารถซื้อ-ดำเนินการต่อได้ทันทีหลังหมดสัญญา 6 เดือน เชื่อไม่กระทบการส่งก๊าซมาไทย

 


บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. แถลงชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ร่วมทุนในโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา จากการที่ บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ได้แจ้งว่าจะขอถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการยาดานา และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซจากโครงการฯ ในประเทศเมียนมานั้น ทางปตท.สผ. รับทราบแล้วและอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการในเรื่องนี้ โดยจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและเมียนมาเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนทั้งสองประเทศ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการยาดานา เป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในภาคตะวันตกของประเทศไทย และในเมียนมา

 

รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่าบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ (Total) จากฝรั่งเศส และบริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ (Chevron) จากสหรัฐ ได้ประกาศถอนการลงทุนออกจากโครงการแหล่งยาดานาและ MGTC เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 เนื่องจากเมียนมาได้มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564 ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเลวร้ายลง จึงเป็นเหตุผลให้ทั้ง 2 บริษัทตัดสินใจถอนการลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งยานาดา ในอ่าวเมาะตะมะ แต่โททาลจะยังคงเป็นผู้ดำเนินการในโครงการต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการ

 

ด้านแหล่งข่าวผู้บริหารจาก บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า กรณีบริษัทโททาลแจ้งขอถอนตัวนั้น ปัจจุบัน บมจ. ปตท.สผ. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุนในโครงการยาดานาสัดส่วน 25.5% อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการในเรื่องนี้ รวมการศึกษาพิจาณาละเอียดการเข้าลงทุนซื้อหุ้นในส่วนที่ผู้ร่วมทุนเดิมคือ โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ กับเชฟรอน ต้องการออกขายออกมาด้วย โดยคาดว่าบริษัทจะได้ข้อสรุปภายในระยะเวลา 6 เดือน ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทำให้ไใม่มีผลกระทบต่อการผลิตของโครงการอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมของฐานะการเงินและแหล่งเงินลงทุนปัจจุบัน ซึ่งมีเงินสดภายในบริษัทประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์ และสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีกราว 2,000 ล้านดอลลาร์หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ซึ่งโครงการยาดานาถือเป็นแหล่งผลิตก๊าซที่สำคัญของ ปตท.สผ. เพราะมีสัดส่วนกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติสัดส่วนถึงประมาณ 2% ของกำลังผลิตรวมของบริษัท

 

สำหรับโครงการยาดานานั้น ถือเป็น 1 ในแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา โดยมีกำลังการผลิตราว 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศโดยเฉพาะในนครย่างกุ้ง ประมาณ 30% ส่วนที่เหลือ 70% เป็นการส่งออกมายังประเทศไทย

zoom-myanmar_en_0

โครงการยาดานาและบริษัท MGTC มีผู้ร่วมทุนโดยมีสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้

  1.  บริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา (Total) ถือหุ้น 31.2375%
  2.  บริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ ถือหุ้น (Chevron) 28.2625%
  3.  บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTEP) ถือหุ้น 25.5%
  4.  บริษัท เมียนมา ออยล์ แอนด์ แก๊ซ เอ็นเตอร์ไพรส์ (MOGE) ถือหุ้น 15%

 

ทั้งนี้ แหล่งยาดานา เป็นแหล่งก๊าซใหญ่ 1 ใน 3 แหล่งของอ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมา ซึ่งอีก 2 แหล่งที่เหลือคือ แหล่งเยตากุน (Yetagun) ซึ่งมี ปตท.สผ. เป็นผู้ร่วมทุนรายใหญ่ และแหล่งซอติกา (Zawtika) ซึ่งมีบริษัทปิโตรนาส จากมาเลเซีย เป็นผู้ร่วมทุนรายใหญ่

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT