ธุรกิจการตลาด

ดีลควบรวม Grab ผ่านฉลุย เข้าเทรด Nasdaq ได้ 2 ธ.ค. นี้

1 ธ.ค. 64
ดีลควบรวม Grab ผ่านฉลุย เข้าเทรด Nasdaq ได้ 2 ธ.ค. นี้

“Grab” ปักธงบริษัทสัญชาติอาเซียนรายที่ 2 ที่เข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากผู้ถือหุ้นไฟเขียวควบรวมบริษัท Altimeter ในดีลใหญ่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์
.

 
ยักษ์อาเซียนรายที่ 2 ในตลาดหุ้นสหรัฐ


“GRAB” เป็นโลโก้ที่เราคุ้นตากันดี อยู่บนรถแท็กซี่ รถยนต์ หมวกกันน็อค ตามถนนหนทางของบ้านเรา และในหลายประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน แต่ล่าสุด เรากำลังจะได้เห็นชื่อ “GRAB” ไปลิสต์อยู่บนตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นรายที่ 2 ต่อจาก “Sea” บริษัทเกมรายใหญ่จากสิงคโปร์เช่นเดียวกัน ที่เข้าลิสต์ในกระดาน NYSE ไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2017

GRAB จะเข้าซื้อขายในกระดาน NASDAQ วันพรุ่งนี้ (2 ธ.ค. 2564) หลังจากที่ดีลควบรวมบริษัท Grab Holdings Inc. กับ “Altimeter Growth Corp.” ซึ่งเป็นบริษัท SPAC หรือ Special Purpose Acquisition Company (บริษัทเข้าซื้อกิจการพิเศษ ก่อตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากตลาดทุน แล้วควบรวมกับ Grab ในภายหลัง) ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของ Grab

 

ดีลนี้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) นับเป็นดีลการควบรวมบริษัท SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแกร๊บนับเป็นบริษัทแรกจากอาเซียนที่เข้าตลาดหุ้นสหรัฐด้วยวิธีพิเศษนี้ และช่วยเปิดโอกาสให้บริษัทรายอื่นๆ อาจใช้เป็นแนวทางศึกษาในการเข้าตลาดหุ้นสหรัฐต่อไป
 


ทั้งนี้ หลังประกาศเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะของบริษัท SPAC เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกที่จะคืนหุ้นในราคาทุนได้ หากไม่มั่นใจในความเป็นไปได้ของกิจการ แต่ก็มีผู้ถือหุ้นเพียง 0.02% เท่านั้นที่ใช้สิทธิ์ในการคืนหุ้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมันของนักลงทุน ในโอกาสการเติบโตหลังจากเข้าระดมทุนในตลาดทุนสหรัฐ แม้ว่าแกร๊บจะเผชิญผลกระทบจากโควิดจนทำให้ยดการขาดทุนพุ่งขึ้นในปีที่แล้ว และทำให้บริษัทต้องลดการคาดการณ์รายได้ในปี 2564 ลงจาก 2,300 ล้านดอลลาร์ เหลือ 2,200 ล้านดอลลาร์ก็ตาม

 
“SPAC” กลยุทธเข้าตลาด ถูกใจทั้งสตาร์ทอัป และ นักลงทุน
 

 
หนึ่งกลไกที่จะทำให้บริษัทสตาร์ทอัปเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือการเข้าระดมทุนผ่านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วทำการ IPO (Initial Public Offering - การเปิดขายหุ้นครั้งแรก) แม้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการโต แต่ขั้นตอนนั้นค่อนข้างยุ่งยาก กว่าจะได้เสนอขายจริงๆ ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว ผ่านสารพันขั้นตอน การยื่นเอกสาร เปิดเผยงบการเงิน และตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยตลาดหลักทรัพย์ กินเวลาร่วม 1-2 ปี
 

 
ผิดกับอีกวิธีซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากอย่างการจัดตั้งบริษัท SPAC (Special Purpose Acquisition Company) เรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือบริษัท “เช็คเปล่า (Blank-cheque)”

 

ซึ่งสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนก่อน แล้วค่อยมาควบรวมกกับบริษัทเป้าหมายในภายหลัง หรือเข้าซื้อกิจการบริษัทอื่นๆ ภายในระยะเวลา 2 ปี วิธีนี้สามารถช่วยให้ Grab ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก และช่วยลดระยะเวลาในการเข้าตลาดจาก 1-2 ปี ให้เหลือเพียง 8 เดือน!
 
ไม่ใช่แค่ดีต่อสตาร์ทอัปเท่านั้น วิธีนี้ยังถูกใจบรรดานักลงทุนอีกด้วย ในกรณีของ IPO นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นในการขายครั้งแรก แล้วราคาหุ้นเกิด “ต่ำจอง” เมื่อเข้าตลาด ก็ต้องรับเคราะห์ไปเต็มๆ แต่ในกรณี SPAC นักลงทุนที่ร่วมระดมทุนในช่วงแรกมีโอกาสจะได้ส่วนแบ่งมากถึง 20% ไม่ว่าบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีผลประกอบการอย่างไร และในระหว่างที่บริษัท SPAC ยังไม่ซื้อ/ควบรวมกิจการ ไม่ว่าราคาหุ้นจะขยับไปอย่างไร นักลงทุนก็มีตัวเลือกที่จะคืนหุ้นในราคาทุนได้อีกด้วย
 


ในช่วงหลังๆ มานี้ SPAC จึงได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในหมู่บริษัทสตาร์ทอัป รวมไปถึงจากบรรดาเศรษฐีระดับโลก เช่น Richard Branson แห่ง Virgin หรือ Bernard Arnault แห่ง LVMH อีกด้วย

 

advertisement

SPOTLIGHT