ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุบ ศบค. ?! เลขาฯ สมช. เผย มีแนวโน้ม เตรียมขยับ สธ. รับผิดชอบ

6 ก.ย. 64

6 ก.ย. 64 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว ศปก.ศบค. เตรียมเสนอให้พิจารณาให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ว่า

ทุกอย่างต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. มีนโยบายให้เตรียมการไว้อยู่แล้ว และการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมาสังคมก็ไม่สบายใจ แม้จะอยู่ร่วมกับกฎหมายดังกล่าวโดยแทบไม่รู้สึก แต่การใช้ต้องมีวันสิ้นสุด ส่วนจะให้สิ้นสุดเมื่อไหร่แล้วแต่นโยบายของรัฐบาลและ ศบค.

สถานการณ์แพร่ระบาดไม่ได้เป็นตัวชี้วัดการมีอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วใช่หรือไม่?
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง แต่วันนี้อาจจะมีกฎหมายอื่น ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังปรับปรุงพัฒนา คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้ หากกฎหมายเสร็จสิ้นก็พร้อมที่จะมาทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทางศบค.ก็พร้อมที่จะนำพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขมาใช้

จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน มีแนวโน้มจะไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนก.ย.นี้ใช่หรือไม่?
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นไปได้ ถ้าสถานการณ์การระบาดทรงตัวอยู่ในลักษณะนี้ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีพอสมควรและประชาชนเข้าใจกันมากพอสมควร แม้จะมีบางส่วนที่ยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถ้าอยู่ระดับนี้ต่อหรือดียิ่งขึ้นก็สามารถพิจารณาได้ แต่ที่จริงสถานการณ์ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เพียงแต่เป็นปัจจัยที่จะนำมาพิจารณา โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกฯ ในฐานะผอ.ศบค. และนโยบายของรัฐบาล พิจารณา

ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การทำงานของ ศบค.จะยังอยู่หรือไม่?
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถ้าไม่ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค.ก็ต้องหมดและจบภารกิจไป แต่ไม่ใช่ว่าจบแล้วหายไปจากวงจรจากระบบ แต่อาจจะแปรสภาพเป็นระบบอื่นที่มีกฎหมายใหม่รองรับ โดยกฎหมายใหม่ที่จะรองรับรัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ และเท่าที่เห็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขผ่านตา น่าจะตอบโจทย์และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ และน่าจะดีกว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีแต่ความเข้มข้น แต่ไม่ตอบโจทย์ทุกกรณี ส่วนกฎหมายใหม่ตอบโจทย์ได้ทุกกรณี และผ่านการเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ทราบดีว่าอะไรคือปัญหา ต่างจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้คลุมในทุกเรื่อง

เราแก้ปัญหา โควิด-19 มาเกือบจะ 2 ปีแล้ว ทราบว่าอะไรคือปัญหา และการจะออกกฎหมายในแต่ละฉบับต้องมาพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้รองรับและสามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนและสื่อมวลชนไม่ต้องเป็นห่วงว่า เมื่อจบ ศบค. แล้วจะยังรับมือสถานการณ์ได้อยู่หรือไม่ เพราะกฎหมายใหม่สามารถรับได้แน่นอน ทั้งนี้ หากกฎหมายใหม่ยังไม่เสร็จ ในขณะที่จะไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเดือนก.ย.นี้ต่อ ก็ต้องมาดูกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร รัฐบาลกำลังเร่งรัดอยู่ เพราะทราบดีว่ากระแสสังคม อาจจะไม่สบายใจ แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะไม่กระทบอะไรมากมาย เวลานี้กฎหมายใหม่ยังไม่เสร็จ แต่เราต้องวางแผนเป็นแนวทางที่ต้องเตรียมเอาไว้ ไม่ใช่พอรู้ว่าจะมีกฎหมายใหม่แล้วสัปดาห์หน้าจบภารกิจเลย ก็จะทำให้กระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องรับช่วงต่อเตรียมการไม่ทัน ศปก.ศบค. จึงต้องเตรียมการไว้ให้พร้อม

เมื่อไหร่ก็ตามที่ทางรัฐบาลสั่งให้จบภารกิจก็สามารถส่งมอบงานได้ เพราะเราพร้อมแล้ว ถ้าไม่พร้อมแล้วรัฐบาลสั่งให้จบภารกิจ การส่งงานจะไม่เรียบร้อย แต่ถ้าเตรียมไว้เมื่อใช้กฎหมายใหม่ใช้ได้ก็สามารถดำเนินการต่อได้ทันที เพียงแต่แค่แปรสภาพ ศบค. ส่วนรูปแบบจะขึ้นอยู่กับทางกระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทีมใหม่ ว่าจะใช้รูปแบบ ศบค. ปัจจุบัน หรือรูปแบบอื่น พล.อ.ณัฐพล กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เลขา สมช.ย้ำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีไว้คุมโรค ไม่ได้ห้ามชุมนุม
- ประยุทธ์ เผย เตรียมลดหรือเลิก เคอร์ฟิว โยน ศบค. ศึกษาแนวทางเปิด ผับ บาร์ ร้านเหล้า
- ดักไว้ก่อน! รองโฆษก รบ.กระจายข่าว เคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ 6 - 10 ก.ย.นี้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม