ทำความรู้จัก ใบกระท่อม หลังปลดล็อก มีสรรพคุณทางยา บรรเทาโรค

3 ก.ย. 64

3 ก.ย. 64 ใบกระท่อม ถูกปลดล็อกจาก 1 ในพืช 4 ชนิดที่อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้แก่ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควาย

ทั้งนี้ ล่าสุด พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ให้มีผลบังคับใช้ 90 วันนับแต่วันประกาศ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทำให้หลังจากนี้ ประชาชนสามารถ ปลูกพืชกระท่อมได้ บริโภคได้ และ ซื้อ - ขายใบพืชกระท่อมได้อย่างเสรี

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกำหนดห้ามบางอย่างอยู่เช่น ห้ามนำพืชกระท่อมไปผสมกับสารเสพติดแล้วบริโบคหรือขาย รวมถึงการแปรรูปพืชกระท่อม เพื่อจำหน่ายจะต้องได้รับการอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก่อน

ดังนั้นมา ทำความรู้จัก ใบกระท่อม ให้มากขึ้นกันดีกว่า กระท่อม เป็นต้นพืชใบเขียวในวงศ์กาแฟ เป็นพืชท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า และ ปาปัวนิวกินี ที่ซึ่งปรากฏการใช้งานกระท่อมในฐานะยาสมุนไพรมาตั้งแต่อย่างน้อยคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระท่อมมีคุณสมบัติโอปีออยด์ และมีผลคล้ายสารกระตุ้นบางส่วน

สำหรับ กระท่อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง เติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ความชื้นสูง ดินอุดมสมบูรณ์ และมีแสงแดดปานกลาง ในไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์แตงกวา พันธุ์ยักษาใหญ่ และพันธุ์ก้านแดง พบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และยังพบในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น อีด่าง อีแดง กระอ่วม ท่อมหรือท่ม

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก ปี 2018 ระบุว่าประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกระท่อมยังคงไม่สามารถสรุปได้ และยังคงไม่ได้รับการอนุมัติเป็นยารักษาโรคเนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับกระท่อมจำนวนมากขาดคุณภาพ

ในสมัยโบราณมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ แก้ท้องเสีย ท้องร่วง บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอ ทำให้นอนหลับ โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา กลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรบริโภคใบกระท่อมเพื่อกดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทำให้ทำงานได้ยาวนานขึ้น ชาวบ้านในภาคใต้ใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว รวมทั้งรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรวบรวมตำรับยาแพทย์แผนโบราณที่ใช้พืชกระท่อมได้ 18 ตำรับทั้งหมดเป็นคัมภีร์ยาหลวงทั้งสิ้น เช่น ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำรายาโรงพระโอสถ (สมัยรัชกาลที่ 2) ตำรายาศิลาจารึกวัดโพธิ์ (รัชกาลที่ 3) ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ (รัชกาลที่ 5) ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เจ้ากรมหมอหลวง (รัชกาลที่ 5) ตำราเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช (รัชกาลที่ 5) ตำรายาแพทย์ตำบลของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (แพทย์หลวงประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 6) และคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เป็นต้น

อนึ่ง การบริโภคกระท่อมก็มีข้อควรระวัง คือ การบริโภคในปริมาณต่ำจะออกฤทธิ์กระตุ้น ลดอาการเมื่อยล้า ทำงานได้นานขึ้น แต่หากใช้ในปริมาณสูงจะมีฤทธิ์กล่อมประสาทและเสพติด ยิ่งถ้าเสพไปนานๆ ผู้เสพอาจมีอาการท้องผูก นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังคล้ำลง บางรายที่เสพมากเกินไปอาจพบอาการแขนกระตุก อารมณ์ซึมเศร้าหรือไม่ก็ก้าวร้าว กระวนกระวาย ความดันสูง มีอาการทางจิต หวาดระแวง เห็นภาพหลอน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง และเมื่อหยุดเสพใบกระท่อมก็จะทำให้ร่างกายไม่มีแรง อ่อนเพลีย ทำงานไม่ได้ ปวดเมื่อยตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- อย.เตือน ก่อนทำผลิตภัณฑ์ ใบกระท่อม พืชกระท่อม ขาย ต้องขออนุญาต
- ธรรมนัส ยินดียิ่งปลดล็อก กระท่อม เผย เคี้ยวแล้วทำงานช่วยไม่ปวดเมื่อย หนุนปลูกเป็นพืช ศก.
- 24 ส.ค.นี้ ปลดล็อก พืชกระท่อม พ้นยาเสพติดให้โทษ - ปล่อยตัวผู้กระทำผิด 1,038 คน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ