ปลดล็อก 1 ก.ย.นี้ กระทรวงแรงงาน สั่ง นายจ้างเรียกลูกจ้างกลับมาทำงาน ไม่ทำจ่ายชดเชยเอง

31 ส.ค. 64

กระทรวงแรงงาน แจง ปลดล็อก 1 ก.ย.นี้ นายจ้างต้องเรียกลูกจ้างมาทำงานตามปกติ หากไม่ทำต้องจ่ายค่าจ้าง ถ้าไม่จ่ายถือเป็นการเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยเอง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป มีผลให้สถานประกอบกิจการตามข้อกำหนดดังกล่าวสามารถเปิดและดำเนินกิจการได้ เช่น กิจการร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น

ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลสิทธิประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้างสำหรับกิจการที่ทางราชการผ่อนคลายให้ดำเนินกิจการได้ โดยให้นายจ้างเรียกลูกจ้างมาทำงานตามปกติ หากนายจ้างไม่เรียกให้ลูกจ้างมาทำงาน นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ อาจถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโดยปริยาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง สำหรับลูกจ้างมีหน้าที่ต้องไปทำงานตามที่นายจ้างเรียก หากลูกจ้างไม่ไปทำงานโดยไม่ได้ลางาน หรือหยุดงานโดยนายจ้างไม่อนุญาตหรือให้ความยินยอม อาจเป็นการขาดงาน ลูกจ้างอาจถูกลงโทษทางวินัยจากนายจ้างได้ และหากลูกจ้างขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย

อธิบดี กสร. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นายจ้างดำเนินกิจการตามมาตรการและเงื่อนไขที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานรวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการหรือผู้บริโภคด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ศบค.ปลดล็อก เปิดห้าง-ร้านอาหาร ตรึงแดงเข้ม 29 จังหวัด ยังคงเคอร์ฟิว เริ่ม 1 ก.ย.นี้
- ชงคลายล็อก นั่งกินในร้าน ใต้เงื่อนไข พนง.ต้อง ฉีดวัคซีน แล้ว 2 เข็ม หรือ ตรวจ ATK ทุก 3-7 วัน
- ลุ้น! นั่งกินในร้าน ชงเข้า ศบค. พิจารณาคลายล็อก ร้านห้องแอร์-ในห้างฯ 27 ส.ค.นี้

 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ