กลุ่มเพื่อนทับลาน สะท้อน "คดีหมีขอ" เกิดจากปรากฎการณ์ “เปรมชัยระบาด” แนะรัฐเพิ่มโทษ

8 ต.ค. 61
จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี จับกุม นายวัชรชัย สมีรักษ์ หรือ แมน อายุ 41 ปี ปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ พร้อมพวกรวม 11 คน หลังนำรถออฟโรด 6 คัน ลักลอบเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี ก่อนถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าตรวจค้น โดยพบปืนไรเฟิล ติดกล้องและอุปกรณ์เก็บเสียง ปืนสั้น เครื่องกระสุน และซากหมีขอ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงควบคุมตัวทั้งหมดไปสอบปากคำเพิ่มเติม ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ( อ่าน : ผู้ว่าฯกาญจนบุรี เผยคำสั่งปลัดอำเภอออกราชการ พักงาน 2 อส. สอบเอี่ยวขบวนการล่าหมีขอ )
ของกลางที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยคพบ
วันที่ 8 ต.ค. 61 นายจันทานนท์ ชญานินสิวกูร ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนทับลาน เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เปิดเผยว่า คดีหมีขอ ที่เจ้าหน้าที่รัฐล่าสัตว์ในเขตหวงห้ามนั้น เป็นปรากฎการณ์ "เปรมชัยระบาด" ของกลุ่มนักล่า กรณีหมีขอนี้ทำให้เห็นว่า ส่วนใหญ่นั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการที่เข้าไปล่าสัตว์ ไม่ได้มีเพียงแต่ชาวบ้าน ซึ่งเกราะของการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการนั้น ช่วย "เปิดทาง" ทำให้สามารถเข้าไปตัวอุทยานหรือปฏิบัติการล่าสัตว์ในเขตหวงห้ามง่ายกว่าชาวบ้าน อีกทั้งใช้อำนาจรัฐ คิดว่าเจ้าหน้าที่อุทยานไม่สามารถเอาผิดได้ ส่วนตัวมองว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปล่าสัตว์ในเขตหวงห้ามนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและการนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตหวงห้าม อาศัยช่องโหวความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่มีใครกล้าตรวจค้น ซึ่งการพกอาวุธปืนเช่นนี้ก็บ่งชี้เจตนาชัดเจนว่า "ต้องการเข้าไปล่าสัตว์" เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้น "ควรมีจิตสำนึก" รู้ผิดชอบ ชั่วดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน แต่ในทางตรงกันข้าม วันนี้ข้าราชการบางคนกลับใช้อำนาจหน้าที่และช่องโหว่ทางกฎหมายกระทำความผิด อย่างเช่น กรณีหมีขอนี้ ทำให้เกิดความคิดที่ว่า "เจ้าหน้าที่รัฐบางราย คืออันตรายของการล่าสัตว์" นอกจากนี้นายจันทานนท์ฯ ยังระบุอีกว่า ส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้อาจจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานภายในรู้เห็นด้วยก็เป็นได้
นายจันทานนท์ ชญานินสิวกูร ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนทับลาน เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่
นายจันทานนท์ เสนอต่อว่า ต้องการให้มีมาตราการหรือแนวทางเข้ามาช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยต้องการให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา 1. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ทุกคน และรถทุกคันที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในเขตหวงห้าม ว่ามี ใบอนุญาตหรือไม่ ประวัติองค์กรเป็นอย่างไร มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนมากน้อยเพียงใด เพื่อความปลอดภัยของอุทยาน 2. จัดกำลังเจ้าหน้าดูแลช่องทางเข้าออกที่อื่นๆ ที่เป็นจุดล่อแหลม นอกเหนือจากทางเข้าออกอุทยานโดนตรง อย่างเข้มงวด เช่น ช่องทางลาดตระเวณ ช่องทางปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาล่าสัตว์หรือทำลายทรัพยากรของอุทยาน และ 3. ต้องการให้รัฐฯ พิจารณาเพิ่มอัตราโทษทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิด ให้มีอัตราโทษที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความเกรงกลัวกฎหมาย และเพื่อความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องเป็นกระบวนการเอาผิดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่กระบวนการที่ทำให้โทษอ่อนลง ทั้งนี้ในส่วนของการร้องขอให้ปลดปลัดออกจากตำแหน่งนั้น ตนมองว่าเป็นการลงโทษทางวินัยตามหน้าที่ แต่ไม่ใช่ลงโทษความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า กรณีของหมีขอนี้คล้ายคลึงกับคดีเสือดำ รวมทั้งระบุว่า คำให้การของปลัดเป็นลักษณะเดียวกับคำให้การของเปรมชัย ที่ทุกวันนี้ไม่สามารถใช้อำนาจกฎหมายลงโทษได้ และบอกทิ้งท้ายด้วยความกังวล ว่า "ตราบใดที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดกับคดีเสือดำ คิดว่าอาจจะไม่สามารถเอาผิดกับคดีหมีขอได้เช่นกัน"  

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ