คนในครอบครัวทยอยล้มป่วย หลังนำ "ศิวลึงค์" เข้าบ้าน ร่างทรงเขมรทัก เอาไปคืน "พนมรุ้ง"

24 ส.ค. 64

โผล่อีก! ชาวบ้านส่งวัตถุโบราณเชื่อมโยง ปราสาทพนมรุ้ง ให้กับอุทยานฯ หลังพบ ศิวลึงค์ ในไร่อ้อยของตัวเอง แล้วเก็บมาบูชาที่บ้านนานกว่า 15 ปี เผยตอนแรกชีวิตดีขึ้น ช่วงหลังมีแต่เรื่องไม่ดี ร่างทรง ระบุ คนพบเคยเป็นแม่ทัพขนศิวลึงค์ แต่เกวียนล่ม ชี้ให้เอาส่งคืนพนมรุ้ง จึงทำพิธีส่งมอบ

วันที่ 23 ส.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านเลขที่ 52 หมู่ 4 ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ร่างทรงได้ทำพิธีตามความเชื่อ เพื่อส่งมอบศิวลึงค์ (สัญลักษณ์เพศองคชาต) มีทั้งฐานศิวลึงค์ และองค์ประกอบของฐานประมาณ 10 ชิ้น ส่งมอบให้กับปราสาทพนมรุ้ง

โดยระหว่างการทำพิธี ร่างทรงได้ใช้ภาษาท้องถิ่น (เขมร) พอได้ใจความว่า ร่างทรงบอกว่าให้เอาของโบราณไปไว้ที่เดิมคืน เมื่อเอาของเหล่านี้กลับไปไว้คืนแล้วก็จะหายจากอาการไม่สบาย ถ้าเอาไปส่งคืน เจ้าของบ้านจะอยู่สุขสบายร่มเย็น

พนมรุ้ง

นางสุภรภรณ์ เพชรไทย อายุ 41 ปี ลูกสาวเจ้าของบ้าน กล่าวว่า จากคำบอกเล่าของนายวิรัตน์ เพชรไทย อายุ 64 ปี พ่อของตัวเองทราบว่า เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา พ่อได้ไปไถไร่เพื่อทำการปลูกอ้อย แต่ไปเจอหินอยู่รวมกันเป็นชุด จึงนำมาเก็บไว้ที่บ้านเพื่อบูชา

ตอนแรกชีวิตในครอบครัวดี มีความสุข หากินง่าย แต่เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวมีแต่เรื่อง คนในครอบครัวล้มป่วยหลายคน จึงเดินทางไปถามร่างทรงที่อยู่ต่างหมู่บ้าน ทักว่า ที่บ้านมีวัตถุโบราณ ให้เอาไปคืนที่เดิมคือ ปราสาทพนมรุ้ง

พนมรุ้ง

ร่างทรงยังทักด้วยว่า พ่อของตนในอดีตเคยเป็นแม่ทัพ มีหน้าที่ขนศิวลึงค์ชุดดังกล่าวไปที่เขาพนมรุ้ง แต่เกิดอุบัติเหตุเกวียนล่ม จึงไม่สามารถนำศิวลึงค์ไปที่เขาพนมรุ้งได้ ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ที่ปรากฏ เนื่องจากที่ผ่านมามีคนไปไถไร่อ้อยมาทุกปี ไม่เคยเจอ แต่ครั้งนั้นพ่อได้ไถไร่ด้วยตนเองแล้วไปเจอโดยบังเอิญ

นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ หัวหน้าวนอุทยานประสาทเขาพนมรุ้ง กล่าวว่าปราสาทพนมรุ้งเป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่ที่ประชาชนให้ความเคารพบูชา ปรากฎการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะไม่เชื่อ แต่มีคนประสบพบเจอมาแล้วเป็นจำนวนมาก ที่มาเที่ยวแล้วหยิบเอาสิ่งของบนปราสาทฯ ไป จะต้องนำส่งกลับคืนทั้งเอามาด้วยตนเองและส่งไปรษณีย์มา

ดังนั้น เมื่อมาเที่ยวโบราณสถานไม่ว่าจะเป็นแห่งใดก็ตามของไทย ขอให้ปฏิบัติตามหลักการดูแลรักษาโบราณสถาน ไม่หยิบจับ สัมผัส หรือรูปคลำลวดลายต่างๆ อาจส่งผลกระทบกับโบราณสถาน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ