เปิดสลิปโอนเงินครึ่งล้าน โต้คลิปแฉวิ่งเต้นอัยการ - “ปรเมศวร์” ชี้หากทนายไม่คืนเงิน ฟ้องได้ (คลิป)

22 ก.ย. 61
วันที่ 21 ก.ย. 61 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำพยานหลักฐานที่อ้างว่า มีตำรวจช่วยเหลือนางสาวอาเมเรีย จาคอป หรือ เอมี่ นักแสดง ให้ไม่ถูกดำเนินคดี ข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติด มามอบให้กับพลตำรวจตรีสมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะประธานชุดสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า มีพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีการวิ่งเต้นคดีกับตำรวจ และมีตัวกลางดำเนินการซึ่งเป็นทนายความ โดยเป็นลักษณะของการไม่ดำเนินคดีข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สายไหม เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
พลตำรวจตรีสมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
พลตํารวจตรีสมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะประธานการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ระบุว่า ภายหลังจากที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง ว่าชุดจับกุมรวมถึงพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมีข้อบกพร่องในการทำสำนวนคดีหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด พร้อมนางสาวอาเมเรีย จาคอป เข้าพบตำรวจ
ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทนายประชาชน พร้อมด้วยนางสาวอาเมเรีย จาคอป หรือ เอมมี่ นำเอกสารที่คัดสำเนามาจากศาล มายื่นต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ส่วนหลักฐานที่นำมามอบให้ตำรวจ เป็นสำเนาคำพิพากษาที่คัดมาจากศาล ซึ่งมีการเซ็นสำเนาถูกต้องทุกแผ่น ส่วนประเด็นที่ทำให้เอมี่ไม่ถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติด มาจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหมด
ภาพจากคลิปเสียงขณะลูกความคุยกับทนาย
นอกจากนี้ กรณีเพจเฟซบุ๊ก ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม โพสต์คลิปวิดีโอเสียงสนทนาระหว่างหญิงรายหนึ่ง กับฝ่ายชาย โดยมี 2 คลิป ข้อความระบุว่า “คลิปเสียงหลอกผู้เสียหายวิ่งเต้นอัยการได้ ทางชมรมฯ ไม่ยืนยันว่าเป็นเสียงใคร และมีการจ่ายเงินให้ใคร ขอให้ทุกท่านที่ได้ฟังพิจารณากันเอาเอง และอย่าลืม งดใช้คำไม่สุภาพนะจ้ะ” (อ่าน : เพจแฉคลิปเสียง ผู้เสียหายทวงเงิน ถูกหลอกวิ่งเต้นคดี แลกจ่าย 5 แสน)
สลิปการโอนเงิน 450,000 บาท
ทั้งนี้ ทีมข่าวได้รับหลักฐานการโอนเงิน เป็นสลิปการโอนเงินจำนวน 450,000 บาท ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 16.07 น. ชายปริศนาได้ตัดสินใจคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้หญิงรายหนึ่ง เป็นที่เรียบร้อย หลักฐานเป็นการบ่งบอกว่าไม่ได้มีการติดค้างสิ่งใดกัน ส่วนอีก 50,000 บาท ชายปริศนาได้แจงว่า ให้คนสนิทไปคืนเรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่ามีการคืนเงินครบจำนวน 500,000 บาทแล้ว
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวผ่านรายการต่างคนต่างคิดว่า กรณีที่ทนายษิทรา ไปชี้แจงที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยที่ยังไม่มีหมายเรียก ตนมองว่าเป็นความใจร้อนของทนายษิทรา ทั้งที่นายอัจฉริยะ ยังไม่ได้มีการพาดพิงถึงเจ้าตัว ส่วนเรื่องคลิปเสียงบนเพจชมรมช่วยเหลืออาชญากรรมนั้น ที่ในคลิปมีการอ้างถึงอัยการที่เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทนายหาเงินเพื่อไปวิ่งเต้นเรื่องคดี เพื่อไปจ่ายให้อัยการ ตนจึงเปรียบเปรยว่า สมัยที่ตนเป็นอัยการ ทนายบางคนก็ถือน้ำมาหาตน พร้อมกับพูดคุย โดยมีลูกความยืนอยู่ไกล ๆ โดยลูกความจะเห็นว่าทนายของตัวเองกำลังคุยกับอัยการอยู่ แต่เมื่ออัยการสั่งฟ้องคดี ลูกความก็จะโวยวายอัยการว่า อัยการรับเงินแล้ว ทั้งที่จริงอัยการไม่ได้รับเงินดังกล่าว
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด
นอกจากนี้ นายปรเมศวร์ เปิดเผยหลังจบรายการว่า กรณีในคลิปเสียงที่มีทนายความและลูกความตกลงกันเรื่องวิ่งเต้นทำคดี โดยจ่ายเงิน 500,000 บาท หากไม่เป็นไปตามที่ตกลง ลูกความสามารถขอเงินคืนได้ เนื่องจากก่อนจ้างทนาย ลูกความจะต้องรู้ว่ามีจ่ายค่าอะไรบ้าง มีค่าวิชาชีพทนายเท่าไร โดยหากลูกความไม่เห็นด้วยเรื่องคดี หรือคดียังไม่เสร็จสิ้น จะขอคืนเงินทั้งหมดก็ได้ แล้วแต่ทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกัน หรือจะหักไปบางส่วนเป็นค่าดำเนินการของทนายความก็ได้ ทั้งนี้ ถ้าหากฝ่ายทนายความ เป็นทนายที่ดี ก็ต้องชี้แจงว่าใช้เงินของลูกความไปเท่าไรบ้าง นอกจากนี้ หากกรณีที่ทนายไม่คืนเงินให้ ลูกความสามารถร้องเรียนที่สภาทนายได้ นายปรเมศวร์ มองว่า กรณีถ้าหากลูกความขอให้ทนายความไปวิ่งเต้นอัยการ เพื่อต่อสู้คดี ก็ถือว่ามีความผิด เช่น กรณีซื้อหวยใต้ดิน ถูกรางวัลแล้วไม่ได้เงิน แล้วผู้ซื้อไปร้องเรียน ก็ถูกดำเนินคดีทั้งคู่ ทั้งนี้ ทางปราบกรามการทุจริตอาจจะสั่งไม่ฟ้องลูกความที่ใช้ทนายก็ได้ เพราะทนายอาจจจะมีความรู้มากกว่าชาวบ้าน ชาวบ้านอาจจะไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่ผิดก็ได้ โดยให้พิจารณาเป็นกรณีไป อย่างไรก็ตาม กรณีที่เจ้าหน้าที่อัยการที่ถูกพาดพิงนั้น นายปรเมศวร์ มองว่าไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการ เพราะสามารถอธิบายสังคมได้ และตรวจสอบหาเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีได้ ทั้งนี้ หากอัยการที่ทำคดี ถูกพาดพิงจนเกิดความเสียหาย ก็สามารถดำเนินคดีด้วยได้เช่นกัน
ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ แสดงความคิดเห็นกรณีคลิปเสียง
ด้านทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ แสดงความคิดเห็นกรณีคลิปเสียง ที่เพจชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเผยแพร่นั้น โดยระบุว่า ทนายดังตามคลิปเรียกเงินลูกความ 500,000 บาท เพื่อไปวิ่งเต้นอัยการ 1) หากเป็นเรื่องจริง มีความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกหรือรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 โทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นทนายความจะต้องถูกลงโทษสถานหนักเพราะรู้กฎหมายดี 2) นอกจากนี้เมื่อถูกจำคุกแล้วก็ต้องถูกลบชื่อตาม พระราชบัญญัติทนายความพ. ศ. 2528 มาตรา 69 3) นอกจากนี้ยังผิดมรรยาททนายความในหมวด 2 ข้อ 8 สมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน และข้อ 14 ใช้อุบายเพื่อให้ได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ตกลงกัน เป็นกรณี การทำ ชั่วร้าย และไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ตามมาตรา 69 ต้องถูกลบชื่อจากการเป็นทนายความ คดีนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับทนายดัง จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ถ้ารับวิ่งเต้นคดีความก็จะหมดอนาคตเหมือนกับทนายสายดาร์กตัวจริง ในวันนี้ #RIP ทนายดัง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ