วิจัยพบ ไวรัสโคโรนา เอี่ยวก่อโควิด-19 แพร่กระจายในค้างคาวเกือกม้าสหราชอาณาจักร

23 ก.ค. 64

วิจัยพบ ไวรัสโคโรนา ที่เกี่ยวพันกับเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในมนุษย์ แพร่กระจายอยู่ในค้างคาวเกือกม้าสหราชอาณาจักร คาดมีเชื้ออยู่นานแล้ว หวั่นกลายพันธุ์แพร่สู่คนได้ในอนาคต

วันที่ 23 ก.ค.64 สำนักข่าวซินหัว รายงาน มินต์ (Mint) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของอินเดีย รายงานผลการวิจัยในสหราชอาณาจักรฉบับใหม่ ซึ่งตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกี่ยวพันกับเชื้อไวรัสฯ ก่อโรคโควิด-19 ในมนุษย์ แพร่กระจายอยู่ในค้างค้าวเกือกม้าสหราชอาณาจักร

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) และสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าค้างคาวน่าจะ “มีเชื้อไวรัสดังกล่าวมานานมากแล้ว” และเพิ่งจะมีการค้นพบตอนนี้เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่พวกมันได้รับการตรวจเชื้อ

อย่างไรก็ดี คณะนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไวรัสชนิดนี้ได้แพร่มาสู่มนุษย์ หรืออาจแพร่สู่มนุษย์ได้ในอนาคต เว้นแต่จะมีการกลายพันธุ์

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ รวบรวมตัวอย่างอุจจาระจากค้างคาวเกือกม้าเล็กกว่า 50 ตัว ในเมืองซัมเมอร์เซ็ต กลอสเตอร์เชียร์ และภูมิภาคเวลส์ และส่งตัวอย่างดังกล่าวไปทำการวิเคราะห์ไวรัสที่สำนักงานฯ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมทำให้พบเชื้อไวรัสฯ ในหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งคณะนักวิจัยตั้งชื่อว่า “อาร์เอชจีบี01” (RhGB01)

รายงานเผยว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบเชื้อกลุ่มซาร์บีโคไวรัส (sarbecovirus) ในค้างคาวเกือกม้าเล็ก และเป็นครั้งแรกที่มีการพบในสหราชอาณาจักร

ไดอานา เบลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าการค้นพบนี้เน้นย้ำความจำเป็นของการทดสอบพันธุ์กรรมของไวรัสชนิดนี้ในประชากรค้างคาวทั่วโลก และยังชวนตั้งคำถามสำคัญว่ามีสัตว์ชนิดอื่นหรือไม่ที่เป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิจัยใหม่พบ "ค้างคาว" ในไทย ซุกไวรัสคล้ายสายพันธุ์ก่อโรคโควิด-19
ลุยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ค้างคาว-หนู หาเชื้อต้นตอไวรัสโควิด-19
"ตลาดนัดจตุจักร" โต้สื่อนอก มั่นใจไม่ใช่ต้นตอเชื้อโควิด-19 ก่อนระบาดอู่ฮั่น

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม