สุพัฒนพงษ์ เผยผลหารือเอกชน ยันไทยเดินหน้าเปิดประเทศใน 120 วัน

22 ก.ค. 64

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับวิกฤตของสถานการณ์โควิด-19 ในเวลานี้ และเมื่อวานนี้ (21 ก.ค. 64) ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมร่วมกับประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ 40 CEO รวมทั้งผม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายละเอียดโดยสรุปมีดังนี้ครับ

< ประเด็นและข้อเสนอสำคัญที่เอกชนได้นำเสนอท่านนายกฯ >

1. ด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
-ยินดีร่วมมือกับภาครัฐในการกระจายวัคซีน ผ่านศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลใน กทม. 25 ศูนย์ของภาคเอกชนร่วมกับ กทม.
-เสนอให้รัฐบาลจัดสรรยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพิ่มจํานวนเตียงและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงเข้มและสีแดง

2. ด้านการเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน
-เสนอให้รัฐบาลขยายมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม
-เร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

3. ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ
(3.1) แผนระยะสั้น เน้นกระตุ้นผู้มีรายได้และผู้มีกําลังซื้อสูง รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ผ่านการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษจากสถาบันการเงิน สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาล และ BOI เพิ่มเติม
(3.2) แผนในระยะต่อไป เน้นการเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) โดยต้องมีการกําหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเฉพาะธุรกิจบางประเภท รวมทั้งกําหนดโครงสร้างฐานภาษีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการดําเนินธุรกิจในยุคต่อไป

4. ด้านการฟื้นฟูประเทศไทย
-เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เน้นขับเคลื่อนสาขาที่มีความสําคัญสูง สร้างผลกระทบในวงกว้าง
-เสนอให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย Digital Transformation โดยจัดทํา Super App/ One App One Goal ที่เชื่อมโยงบริการของภาครัฐต่างๆ เข้าไว้ในแอพพลิเคชั่นเดียวกัน

< ท่านนายกฯ ชี้แจงการรับมือและการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ >

1. ด้านการเร่งจัดหาและกระจายวัคซีน
-ได้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสตามเป้าหมาย ปัจจุบันมียอดการฉีดวัคซีนรวมกว่า 14 ล้านโดสและยังต้องเร่งดําเนินการอย่างต่อเนื่อง
-เร่งจัดหายาและอุปกรณ์การตรวจหาเชื้อ Rapid test เพื่อนํามาแจกจ่ายให้แก่ประชาชน รวมถึงจัดหาเตียงและโรงพยาบาลสนามให้มากขึ้น

2. ด้านมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
-มีการเยียวยาผู้ประกอบการและกลุ่มแรงงาน รวมทั้งมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ พักชําระหนี้ พักชําระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
-ได้ดําเนินการผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 3 ซึ่งมีคนใช้สิทธิกว่า 21 ล้านราย รวมทั้งโครงการท่องเที่ยว “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ซึ่งจะขยายผลไปสู่โครงการ “สมุยพลัสโมเดล” เพื่อช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การท่องเที่ยว

4. การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป
-ได้มีการดําเนินการผ่านทีมปฏิบัติการเชิงรุกในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะการพิจารณาแก้ไขและลดข้อจํากัดในการดําเนินธุรกิจ และการทํางานของชาวต่างชาติ

< การร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้ประเทศพ้นวิกฤตและขับเคลื่อนต่อไปได้ >

-ท่านนายกฯ ยินดีรับฟังข้อเสนอจากทางภาคเอกชน เพื่อนําไปพิจารณา ปรับปรุง และต่อยอดมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดําเนินการไปแล้ว และกําลังดําเนินการอยู่ หลายข้อมีการรับเรื่องเพื่อนําไปพิจารณาเป็นแนวทางการดําเนินมาตรการในระยะต่อไป
-ข้อเสนอของภาคเอกชนหลายข้อสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลดําเนินการอยู่ จึงอยากให้ภาคเอกชนสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการผลักดันเรื่องต่างๆ ให้ประสบความสําเร็จ
-ต้องร่วมมือกันสื่อสารสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเพื่อลดความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นในสังคม
-รัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าการเปิดประเทศใน 120 วันตามเดิม และยินดีที่จะทํางานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยสามารถข้ามผ่านพ้นจากวิกฤต และความท้าทายนี้ไปได้อย่างบรรลุเป้าหมาย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เข้มแข็งต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร สั่งก้าวข้ามระเบียบ ไม่อยากเห็นคนตายเพราะไม่มีที่กักตัว
- โควิดวันนี้ 22 ก.ค.64 ยอดติดเชื้อใหม่ 13,655 ราย ดับเพิ่มอีก 87 ราย
- หมอมนูญ แนะควรหยุดสั่งซื้อ วัคซีนซิโนแวค จนกว่าจะมีรุ่นที่ครอบคลุมเชื้อทุกสายพันธุ์

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ