ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ น่าห่วง ยอดติดเชื้อยังสูง สั่งปิดสถานที่เสี่ยง ห้างเปิดถึง 3 ทุ่ม

19 ก.ค. 64

โครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถือว่ายังน่าเป็นห่วง จากสถานการณ์พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ยอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเกินจากมาตรฐานที่กำหนด ทั้งจากประชาชนทั่วไปและกลุ่ม ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่พบนักท่องเที่ยวที่ Swab Test Day ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต พบมีเชื้อโควิดถึง 7 ราย

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการ Phuket Sandbox ศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย ว่าที่ร.ต.วิกรม จากที่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.ภรศักดิ์ นวนหนู ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามประเมินผลการดำเนินงาน Phuket Sandbox เพื่อเตรียมข้อมูลนำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.และศบค.ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ขอให้มีการพิจารณาทบทวนการออก EOC จากต้นทางถึงผลการตรวจของนักท่องเที่ยวที่นำมาแสดง เพื่อเป็นการกลั่นกรองข้อมูลนักท่องเที่ยว ก่อนการเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

สำหรับโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยว เข้ามาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว 7,462 คน พบผู้ติดเชื้อโควิดรวม 15 คน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น ก่อนการยกระดับเข้มการคัดกรองบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ค ศูนย์ข้อมูลโควิดจังหวัดภูเก็ต ได้เผยแพร่คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 4023/2564 เรื่อง ปิดสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง มาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีสาระสำคัญของมาตรการ คือ

ข้อ 1 มาตรการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

1. ให้ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ทุกแห่งในท้องที่จังหวัดภูเก็ต เป็นการชั่วคราวต่อไป

2. ให้ปิดสนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามแข่งนก สนามแข่งไก่ สนามมวย หรือสถานที่จัดให้มีการเล่นการพนัน รวมถึง สนามฝึกซ้อมหรือกิจกรรมอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นการชั่วคราวต่อไป

ข้อ 2 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

1. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ยกเว้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก ให้งดบริการ

2. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่มิได้ประกอบกิจการเป็นสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ตามปกติ โดยให้มีการจำหน่ายและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในร้านได้จนถึง เวลา 21.00 น.

3. ร้านสะดวกซื้อ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติ ตั้งแต่เวลา 04.00 น.ถึงเวลา 23.00 น.

4. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส แบดมินตัน สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

5. สถานที่จัดให้มีโต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด โต๊ะพูล หรือการเล่นที่มีลักษณะคล้ายกันโดยจัดให้มีการเล่นได้ ระหว่างเวลา 15.00 น. ถึงเวลา 21.00 น.

6. ร้านเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ สามารถเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น.

7. โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ สวนน้ำ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ ยกเว้น สวนสนุก เครื่องเล่นประจำที่ หรือเครื่องเล่นแบบเคลื่อนที่กลางแจ้ง ให้เปิดดำเนินการได้ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น.

8. ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรม สังสรรค์ ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่สาธารณะ ชายหาด สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ถนนริมคลอง ถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ขุมน้ำสาธารณะ

ข้อ 3 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน เว้นแต่ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค

ข้อ 4 การจัดกิจกรรมทางสังคม

ให้งดการจัดงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงรับ - ส่ง และเลี้ยงฉลองแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ กรณีการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมหากไม่สามารถเลื่อนได้ เช่น งานพิธีการศพ งานอุปสมบท งานมงคลสมรส วันสำคัญทางศาสนาหรืองานบุญ ให้สามารถดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ

ข้อ 5 มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาขยายการดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นระยะเวลาตามความจำเป็นเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ การปฏิบัติงานดังกล่าวให้เพียงพอต่อภารกิจให้บริการประชาชน ห้ามมิให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารและพนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานราชการ ลูกจ้างส่วนราชการ เดินทางออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ยกเว้น มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและต้องได้รับอนุญาตตามแบบฟอร์มที่กำหนดแนบท้ายคำสั่งนี้

1) กรณีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีนคร นายกเทศมนตรีเมือง ให้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตามแบบที่กำหนด (แบบ ภก. 1)

2) กรณีข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ขออนุญาตต่อหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัด ตามแบบที่กำหนด (แบบ ภก. 2)

3) กรณีผู้เดินทางตาม 1) และ 2) ไปยังพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม แล้วกลับเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต ต้องปฏิบัติตามมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดภูเก็ตโดยเคร่งครัด

ข้อ 6 การถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ซึ่งเมื่อรวมคนทำงานหน้าฉากและทุกแผนกแล้ว ต้องมีจำนวนไม่เกิน 150 คน และต้องไม่มีผู้ชมเข้าร่วมรายการ

ข้อ 7 มาตรการตรวจสอบเข้มงวดกับสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่อื่นๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ