หมอนิธิพัฒน์ เชื่อ โควิดสายพันธุ์เดลตา แพร่ใน กทม. แล้ว หลังพบผู้ป่วยปอดอักเสบเร็วและรุนแรง

28 มิ.ย. 64

หมอนิธิพัฒน์ เชื่อ โควิดสายพันธุ์เดลตา แพร่ระบาดใน กทม. แล้ว หลังพบผู้ป่วยปอดอักเสบเร็วและรุนแรงกว่าเดิม เผยตัวเลขผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ พุ่งนิวไฮ

เศร้า! ยายวัย 83 ติดโควิด รอเตียง 10 วัน ดับคาบ้านย่านเจริญกรุง ลูกสาวติดเชื้อ เฝ้าศพแม่

วันที่ 27 มิ.ย.64 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า

ที่ทำงานหนักก็หนักกันต่อไป ยังมองไม่เห็นฝั่ง แม้มีคนยื่นขอนไม้มาให้แล้ว เมื่อคืนจนถึงเช้านี้การหาเตียงสำหรับผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจในกทม.คึกคักมาก และต้องขอความช่วยเหลือส่งไปต่างจังหวัดสักพักแล้ว ส่วนการเพิ่มเตียงไอซียูโควิด ที่กำลังพยายามกัน (ส่วนตัวไม่เห็นด้วย) แม้จะทำพอได้มาบ้างแต่คงไม่สามารถขุดมาใช้ได้ในเร็ววัน วันนี้ยอดผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจในประเทศจะเป็นนิวไฮที่ 485 รายหรือเปล่าไม่รู้ โดยอยู่ในกทม.-สมุทรปราการ-นนทบุรี-ปทุมธานี 330 (68%) และกทม.โดดๆ 225 (46%)

ผมคงเช่นเดียวกับคนหมู่มาก ที่อยากจะเห็นหน้าตาของมาตรการที่ขอเรียกว่า “ล็อคดาวน์แบบจำกัดขอบเขต” ฉบับเต็ม (มีแพลมมาแล้วพอควร) ว่าจะออกมาแล้วร้องว้าวหรือร้องยี้ จะโดนใจหรือจะเสียดแทงใจ โดยส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อน้ำมนต์ฝ่ายบริหารและฝ่ายความมั่นคงนักเพราะชนักมันมีอยู่ ตัวดีแสนสำคัญที่กำหนดคือ “สายสัมพันธ์”หรือ “การเกี้ยเซี้ย” ที่อาจทำให้ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้และกวดขันให้เป็นไปตามมาตรการทำได้ไม่สมบูรณ์ตามที่รับปาก อย่างไรก็ตามเมื่อให้อำนาจเขาตัดสินใจแล้ว ภาคการแพทย์และภาคประชาชนคงได้แต่ต้องช่วยกันจับตามอง

ดัชนี้ชี้วัดที่น่าจะควบคุมตัวแปรอื่นๆ ออกไปได้เกือบหมด และมองเห็นผลได้เร็ว คือ จำนวนผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจในกทม. (นับรวมหากมีการขนย้ายไปรักษาในจังหวัดใกล้เคียงตามนโนบายหน่วยงานที่ว่าเตียงในกทม.ยังมีพอ) อีกทั้งดัชนีนี้จะเป็นเครื่องตอกย้ำความสะเทือนใจทั้งของฝั่งผู้ป่วยและญาติ และฝั่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ให้การดูแลรักษา เนื่องจากดัชนีนี้จะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตราวครึ่งหนึ่งในอีกสิบวันหลังจากนั้น

ผมเชื่อว่าขณะนี้ สายพันธุ์เดลต้าแพร่กระจายไปมากใน กทม.แล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการปอดอักเสบเร็ว และดูรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่เดิม ขณะนี้มียอดผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจใน กทม. 225 คน หากมาตรการที่กำหนดร่วมกันมานี้ใช้ได้ผล จะต้องเห็นตัวเลขนี้ลดลงให้เหลือไม่เกินครึ่งหนึ่งคือ 123 คนใน 28 วันข้างหน้า นั่นคือต้องไม่เกินสามในสี่คือ 169 คนในอีก 14 วันข้างหน้า การที่กำหนดตัวเลข 123 คนไว้เป็นเป้าหมายสุดท้าย เนื่องจากอยากเห็นไอซียูโควิดในกทม.กลับไปใช้งานเท่าจุดสูงสุดของระลอกแรกคือไม่เกิน 200 เตียง (ครึ่งหนึ่งจะใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกครึ่งหนึ่งใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น) เพื่อที่จะได้หวังให้ลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งในอีกหนึ่งรอบ 28 วันถัดไป

ถ้าเป็นดังนี้บุคลากรทางการแพทย์จะไม่เหนื่อยล้าจนเกินไปและทนไม่ไหว ผู้ป่วยโควิดก็จะได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจะได้กลับมารับการดูแลรักษาตามมาตรฐานวิถีใหม่ที่ควรจะเป็น

ยังมีข้อแม้อีกเล็กน้อย คือ การตรวจค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ต้องระดมทำเต็มความสามารถ เพื่อเร่งควบคุมโรคในภาพรวม อย่าให้เป็นแบบที่ผ่านมาในบางพื้นที่ คือตรวจน้อยเท่ากับติดน้อย ผู้ใหญ่จะได้ไม่กังวล แต่ทำแบบนั้นมันจะติดแน่นและติดนาน จนคนโรงพยาบาลจะรับไม่ไหวแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะต้องกังวลไปอีกแบบหนึ่งที่อาจน่ากลัวกว่า อย่างไรก็ตามถึงจะตรวจน้อย คนที่ติดแล้วไม่ได้ตรวจหรือรอตรวจหรือรอเตียง ถ้าอาการทรุดลงก็จะตรวจจับได้เมื่อต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

โควิดวันนี้ 28 มิ.ย.64 พุ่งกระฉูด! ติดเชื้อ 5,406 ราย เสียชีวิต 22 ราย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ