เปิดบทบาท สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กับการคุมกติกาการค้าที่เป็นธรรม

12 มิ.ย. 64

“กฎหมายการแข่งขันทางการค้า” ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะด้านของการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในตลาด รวมทั้งผู้บริโภคที่จะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน เนื่องจากสามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลาย มีคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม แน่นอนว่าหลายประเทศทั่วโลกมีกฎหมายฉบับนี้ และประเทศไทยก็มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเช่นกัน

เนื่องด้วยระบบตลาดสินค้าและบริการที่เป็นอยู่ในประเทศไทย โครงสร้างตลาดส่วนใหญ่จะเป็นตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด และตลาดผู้ขายน้อยราย ซึ่งโครงสร้างตลาดในลักษณะดังกล่าว มีส่วนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่มีความได้เปรียบและใช้อำนาจตลาดที่มีอยู่กลั่นแกล้งหรือจำกัดโอกาสในการดำเนินธุรกิจของคู่แข่งขันที่มีขนาดเล็กกว่าได้ง่าย


• ทำความรู้จัก “สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของไทย
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) หรือ Office of Trade Competition Commission (OTCC)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560
และบัญญัติให้จัดตั้ง สขค. ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในลักษณะหน่วยธุรการ
ขององค์การของรัฐที่เป็นอิสระ (Independent Administrative Organization) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า พร้อมด้วย นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ รองประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า และกรรมการการแข่งขันทางการค้า อีก 5 ท่านได้แก่


นายสมชาติ สร้อยทอง นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ นายสมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล และ ดร.รักษเกชา แฉ่ฉาย โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญ และต้องการความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ปราศจากแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติติงานของสำนักงานฯ และเป็นแกนนำสำคัญของสำนักงานฯในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของสำนักงานฯ ให้สำเร็จและบรรลุตามพันธกิจได้อย่างสมบูรณ์

• บทบาทผู้ควบคุมกติกาการค้าที่เป็นธรรม
สขค. มีหน้าที่หลักในการสร้างกติกาในการกำกับดูแล และส่งเสริมให้กระบวนการด้านการแข่งขันทางการค้า เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจการค้าของประเทศ โดยมีภารกิจหลักสำคัญ 2 ด้านคือ 1. การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) 2. การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า (Advocacy) และยังมุ่งในประเด็นอื่น ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มขีดความสามารถให้กับ SMEs ผ่านระบบการเสริมสภาพคล่อง และเพิ่มบทบาทให้สามารถแข่งกับธุรกิจรายใหญ่ได้ การจับตาพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม รวมทั้งช่องว่างของกฎหมาย - กฎระเบียบในบางส่วนที่เป็นตัวแปรไปสู่การจำกัด - กีดกัน หรือผูกขาดทางการค้า ซึ่งเป็นอุปสรรคด่านใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้ และยังรวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือที่จำเป็นในการติดตามสถานการณ์การการค้าโลก รวมถึงธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าหรือผู้บริโภค เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจดิจิทัลที่เติบโตจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนการออกไกด์ไลน์เพื่อตักเตือน หรือควบคุมพฤติกรรมทางการค้าที่อาจนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแต่ละระดับ

• บทบาทที่ท้าทายในวิกฤตปี 2564
หลังจากเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก และยังทำให้โครงสร้างการแข่งขันในตลาดขาดความสมดุล เนื่องด้วยธุรกิจบางกลุ่มเติมโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มต่างๆ และ ขณะที่ธุรกิจบางกลุ่มต้องล้มเลิกกิจการไป เช่น ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม โดยที่ผ่านมา กขค. ได้มีการทบทวนข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ให้มีความครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และล่าสุด ได้มีการจัดทำแนวทางการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ชัดเจน ถูกต้อง เป็นธรรมและเป็นกลไกป้องกันความเหลี่อมล้ำจากอำนาจต่อรองจนนำไปสู่การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งจะมีผลให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่องทางการเงินอีกทางหนึ่งด้วย

• ช่องทางร้องเรียนโดยตรงและทางออนไลน์ หากผู้ประกอบการไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า


หากผู้ประกอบธุรกิจพบพฤติกรรมการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า หรือได้รับผลกระทบ
จากการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนโดยตรงด้วยตนเองได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
โทรศัพท์ 02-199-5444 ทางเว็บไซต์ otcc.or.th

advertisement

ข่าวยอดนิยม