พ่อเผย ลูกน้อยเข็มน้ำเกลือหลุดจนแผลเหวอะ กลัวเป็นรอยจนโต - หมอชี้คนแก่ก็เสี่ยง (คลิป)

20 ส.ค. 61
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ธีระพงษ์ แสงสุวรรณ โพสต์ข้อความผ่านกลุ่ม Her kid รวมพลคนเห่อลูก เพื่อเตือนเป็นอุทาหรณ์ สำหรับคุณพ่อคุณให้ระวังเรื่องการเจาะน้ำเกลือในเด็กเล็ก เนื่องจากผู้โพสต์พาลูกไปรักษาอาการไข้หวัด มีน้ำมูก ที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นมีการเจาะให้น้ำเกลือ และยาฆ่าเชื้อ ก่อนที่ลูกจะมีอาการแขนบวม และเริ่มมีแผลพุพองบริเวณที่ให้น้ำเกลือ (อ่าน : อุทาหรณ์! พาลูกหาหมอ ถูกเจาะน้ำเกลือแขนบวม-แผลพุพอง กังวลแผลเป็นสร้างปมตอนโต)
นพ.กวี ชินศาศวัต แพทย์ด้านอายุรกรรมทั่วไป รพ.เปาโล
วันที่ 19 ส.ค. 61 นพ.กวี ชินศาศวัต แพทย์ด้านอายุรกรรมทั่วไป รพ.เปาโล โชคชัย 4 กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากภาพบาดแผลของน้องพ็อตเตอร์ เป็นลักษณะของอาการหลอดเลือด หรือเนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังอักเสบ สาเหตุเกิดจากเข็มน้ำเกลือหลุดจากเส้นหลอดเลือด หากเข็มหลุดออกจากผิวหนัง ก็ต้องมีการเข้าน้ำเกลือใหม่ แต่เคสของทารกวัย 8 เดือน เป็นลักษณะที่หลุดออกมาแล้วอยู่ภายใต้ผิวหนัง ทำให้ตัวยาเคมี จำพวกยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ หรือยาบำบัดบางชนิด เข้าไปที่บริเวณเนื้อเยื่อ จนเกิดปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อ มีอาการบวมแดง เป็นแผลพุพอง ทั้งนี้ ในกรณีนี้ต้องดูว่าแพทย์ผู้รักษาใช้ตัวยาอะไรบ้าง และทิ้งไว้นานไหม ก่อนที่จะเกิดการอักเสบขึ้น โดยทั่วไปแล้วเด็กในวัย 8 เดือน แพทย์ก็จะมีการกำหนดปริมาณน้ำเกลือที่เหมาะสม เพราะถ้าหากปล่อยให้น้ำเกลือเข้าร่างกายมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดภาวะปอดบวมได้ เพราะฉะนั้นแผลพุพองที่เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของการให้น้ำเกลือแก่เด็กทารก อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดพลาดของพยาบาลที่เจาะน้ำเกลือหลุด หากมีการติดเชื้อรุนแรงอาจจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่จะติดเชื้อรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระบบภูมิต้านทานร่างกายของเด็กด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
แผลของลูกนายธีระพงษ์ แสงสุวรรณ
นพ.กวี กล่าวว่า ในการรักษาพยาบาล สามารถให้น้ำเกลือได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิด แต่ต้องมีการประเมินอาการของคนไข้แต่ละรายว่าเหมาะสมในการให้น้ำเกลือหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วอาการอักเสบที่เนื้อเยื่อผิวหนังนี้ มักจะเกิดกับเด็กทารกและผู้สูงวัย เนื่องจากมีเนื้อเยื่อที่เปราะบางกว่าช่วงวัยอื่น ที่ผ่านมาเคยมีเคสแบบนี้บ้าง แต่มีปริมาณน้อยมาก มีประมาณ 5% ที่จะเกิดแผลพุพองขึ้น นอกจากนี้ นพ.กวี ยังแนะว่า ผู้ปกครองของเด็กทารกหรือผู้สูงวัยไม่ควรประมาท และต้องรู้จักสังเกตว่ามีเข็มหลุดหรือไม่ มีอาการปวดหรือบวมแดงมากน้อยเพียงใด รวมทั้งตัวคนไข้เอง ต้องรู้อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ารู้สึกปวดแสบ ปวดร้อนหรือไม่ หากเนื้อเยื่อผิวหนังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้แผลหายยาก ใช้เวลาในการรักษานาน อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นอีกด้วย แต่แผลเป็นจะมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่ถูกทำลาย ส่วนในเรื่องของการรับผิดชอบของแพทย์นั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างคนไข้ และทางโรงพยาบาล หากตกลงกันไม่ได้ ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการแพทย์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ