กาฬสินธุ์ ประกาศเป็นเขต โรคระบาด ทั้งจังหวัด หลังพบสัตว์ป่วยโรค ลัมปีสกิน หลายอำเภอ

19 พ.ค. 64

กาฬสินธุ์ ประกาศเป็นพื้นที่เขต โรคระบาด สั่งเข้มห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ หลังพบโค กระบือ ป่วยโรค ลัมปี สกิน หลายอำเภอ ขณะที่ ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกร

วันที่ 19 พฤษภาคม 64 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านทุ่งกระเดา หมู่ที่ 5 ​ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง​ จ.กาฬสินธุ์ ​หลังจากได้รับแจ้งว่ามีโคและกระบือของเกษตรกรป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นกาแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในหมู่บ้าน

เบื้องต้นได้พบกับนาง​สมพร​ ​ปาวรี​ อายุ 54 ​ปี อยู่บ้านเลขที่1/1 หมู่ที่ 5​ บ้านทุ่งกระเดา​ ต.กุดปลาค้าว​ อ.เขาวง​ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เลี้ยงโคและได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน

โดยนางสมพร กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาเริ่มมีการระบาดของโรคลัม​ปี ​สกิน ในหมู่บ้านข้างเคียง และได้มีการระบาดมายังหมู่บ้านของตน แต่ก็ไม่คาดคิดว่าโรค​ลัมปี​ สกิน จะติดต่อมายังวัวของตนเองได้เร็วขนาดนี้ โดยปกติแล้วตัวเองเลี้ยงวัวอยู่ 5 ตัว ปัจจุบันวัวติดโรคลัมปี​ สกินแล้ว 2 ตัว ซึ่งเป็นแม่ลูกกัน และเป็นโรคลัมปี สกิน มาประมาณ 2-3 วันแล้ว หลังจากที่รู้ว่าวัวทั้ง 2 แม่ลูกติดโรคระบาด ก็ได้ทำการแยกออกจากฝูงนำไปเลี้ยงไว้ที่อื่นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการติดไปยังวัวที่เหลือ

นางสมพร กล่าวอีกว่า สำหรับอาการของโรคลัมปี​ สกินนั้น จะมีตุ่มขึ้นตามตัวของวัว แต่เบื้องต้นมีไม่มาก แต่มีอาการซึม ไม่กินนม ไม่กินหญ้า หรือแม้แต่น้ำก็ไม่กิน อีกทั้งยังมีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวลว่าวัวที่ตัวเองเลี้ยงนั้นจะเสียชีวิตเหมือนกับวัวของคนอื่นที่เคยเป็นข่าว ทั้งนี้เบื้องต้นได้แจ้งไปยังปศุสัตว์​อำเภอเขาวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแล เพื่อทำการรักษาแล้ว แต่ปรากฏว่าทางเจ้าหน้า​ที่ปศุสัตว์​แจ้งว่ายังไม่มีวัคซีน​หรือยาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ได้แต่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น

ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ช่วยมาให้คำแนะนำหรือช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้ พื้นที่อำเภอเขาวงได้มีการระบาดของโรคลัมปี​ ส​กิน​ในหลายตำบลแล้ว เช่น ตำบลกุดปลาค้าว​ ตำบลคุ้มเก่า​ ตำบลสระพัง หรือแม้กระทั่งในอำเภอติดกันอย่างอำเภอนาคู และอำเภอกุฉินารายณ์ก็มีสัตว์ป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมาก จึงอยากให้ช่วยนำไปพิจารณา​เป็นปัญหาเร่งด่วนด้วย

ขณะที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เรื่องกำหนดเขตโรคระบาด ชนิดโรคลัมปีสกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ด้วย จ.กาฬสินธุ์พบว่ามีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดในสัตว์(ชนิด) โคเนื้อป่วยด้วยโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้ จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด

ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์จึงออกประกาศไว้ดังนี้

1.ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปีสกินในสัตว์ชนิดโค กระบือ

2.ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ ชนิดโค กระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าวเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตว์แพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

ทั้งนี้ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์ และอำเภอทั้ง 18 อำเภอ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ ให้ความรู้ และให้การช่วยเหลือเกษตรกรในการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนแล้ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ