“ครูไกรวิทย์” ปลอบ “ครูวิภา” หัวอกเดียวกัน หวังศิษย์ได้ดี ค้ำประกันจนล้มละลาย ซ้ำป่วยมะเร็ง (คลิป)

29 ก.ค. 61
จากกรณีอดีตครูโรงเรียนเอกชน ย่านหนองแขม ค้ำประกันเงินกู้ กยศ. ให้ลูกศิษย์ และลูกศิษย์ค้างชำระหนี้ จากนั้น ศาลมีคำสั่ง ให้เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งผ่านมากว่า 3 ปี ที่ออกจากอาชีพครู ครอบครัวแตกแยก กลับมานับหนึ่งเริ่มต้นชีวิตใหม่เพียงลำพัง อีกทั้งป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้
ไกรวิทย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี อดีตครูโรงเรียนเอกชน พูดคุยกับทีมข่าว
นายไกรวิทย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี อดีตครูโรงเรียนเอกชน เปิดเผยว่า ตนถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อ พ.ย. 2558 - พ.ย. 2561 ซึ่งอีกประมาณ 4 เดือนจะสิ้นสุดสภาวะการเป็นบุคคลล้มละลาย โดยเหตุเกิดจากที่ตนเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ. ให้เด็กนักเรียนระดับ ปวส. แล้วโดนฟ้องให้ชำระหนี้แทนผู้กู้ แต่ไม่มีเงินจ่าย จึงโดนฟ้องล้มละลาย นายไกรวิทย์ เล่าว่า หลังจากลาออกจากการเป็นครู จึงทำอาชีพค้าขาย แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีความสามารถด้านนี้ ต่อมาจึงมารับจ้างสอนพิเศษ มีรายได้บ้างไม่มีบ้าง ตอนนั้นชีวิตเปลี่ยน และลำบากมากขึ้น ไปขอความช่วยเหลือใคร ก็ไม่ได้ บางครั้งก็ไม่มีเงินติดตัว ส่วนครอบครัวแตกแยก หย่าร้างกับภรรยา เพราะมีปัญหาหนี้สิน แต่ตนยอมล้มเพียงคนเดียว เพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด ยอมปล่อยให้ภรรยาและลูกไป อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พ้นสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว นายไกรวิทย์ จะยื่นเรื่องขอเป็นบุคคลธรรมดา และหาหนทางประกอบอาชีพต่อไป เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ส่วนด้านอาการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ นายไกรวิทย์ ตรวจเจอล่าสุดเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผานมา โดยใช้กองทุนรักษา 30 บาท สิทธิบัตรทองรักษา และมีเพื่อน ๆ ช่วยค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ค่ายานพาหนะไปโรงพยาบาล และยังคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ นายไกรวิทย์ กล่าวต่อว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ ตนก็ยังคงจะเซ็นค้ำประกันให้ลูกศิษย์กลุ่มนี้เหมือนเดิม เพราะสมัยตนเรียน ตนก็ประสบปัญหาไม่มีเงิน พ่อแม่ต้องไปยืมเงินคนอื่น ซ้ำยังเคยถูกต่อว่าด้วยคำพูดรุนแรงว่า “ไม่มีกิน ก็ยังจะเรียน” ตนจึงเข้าใจความรู้สึกของลูกศิษย์ที่อยากเรียน จึงเซ็นค้ำประกันให้ทุกคน อีกทั้งตนคิดเสมอว่าสิ่งที่ตนช่วย จะเป็นการสร้างอนาคต สร้างคน “ตนยอมล้มละลายเพื่อเด็ก” และที่ผ่านมา ตนขึ้นศาลที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนักเรียนที่ตนค้ำประกันให้ โดยค่าใช้จ่ายการเดินทาง ตนก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด นายไกรวิทย์ กล่าวต่อว่า ลูกศิษย์ไม่มีการติดต่อกลับมาเลยสักคน ตนไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดียังไง ไม่รู้ว่าแต่ละคนอยู่ที่ไหน ไม่มาขอโทษเลย แต่ตนไม่ติดใจ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เกลียด ตนยอมเจ็บคนเดียว เพราะมองว่า ตนคือเรือจ้าง ก็ต้องส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่ง ตนอาจจะแสดงความเป็นครูมากเกินไป ครูท่านอื่นอาจจะไม่ได้ค้ำประกันให้เด็ก แต่ตนก็ไม่ได้โทษใคร และไม่ได้โทษเด็กด้วย การเป็นครู จรรยาบรรณของครู ก็ต้องช่วยเหลือลูกศิษย์ ทั้งนี้ ขอฝากถึงลูกศิษย์ที่ตนเซ็นค้ำประกันให้ว่า ให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและครอบครัว ให้กรณีของครูเป็นแบบอย่าง และอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เพราะไม่อยากให้ใครล้มเหลวจากการกระทำของคนอื่น และฝากถึงอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน เช่น ครูวิภา ว่าต้องพยายามทำใจ เพราะยังมีครูอีกประมาณ 40-50% หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ค้ำประกันอาจจะตกอยู่ในสถานะเดียวกัน นายไกรวิทย์ ระบุว่า ที่ผ่านมา ตนทราบว่าตัวเองอาจจะถูกฟ้องล้มละลาย แต่ก็พยายามส่งเงินชำระหนี้แทนลูกศิษย์แล้วทุกเดือน ระยะเวลากว่า 2 ปี เป็นเงินประมาณ 200,000 - 300,000 บาท อย่างไรก็ตาม ฝากถึงการติดตามทวงหนี้ของ กยศ. ว่า ควรจะมีการแจ้งหนี้ก่อน ไม่ใช่มีหมายศาลออกมาก่อนจึงจะแจ้งหนี้ และระบบการติดตามหนี้ของ กยศ. ก็ไม่เคยแจ้งหนี้ทั้งผู้ค้ำประกันและนักเรียน
ครูไกรวิทย์ และครูวิภา พูดคุยกันทางวิดีโอคอล
นอกจากนี้ ครูไกรวิทย์ และครูวิภา พูดคุยกันผ่านทางวิดีโอคอล ซึ่งทั้งคู่คือครูผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในสภาวะเดียวกัน จึงได้ให้คำแนะนำ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ขอให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ครูไกรวิทย์ พูดกับครูวิภาว่า ขอยกย่องครูวิภา และแนะนำว่าหลังจากนี้ ให้ครูวิภารอการติดตามเด็กทุกคน ให้มาชำระหนี้ หากครูวิภากังวลใจที่ถูกฟ้องยึดทรัพย์ และอาจจะมีการฟ้องล้มละลายเกิดขึ้น ก็ต้องอยู่ให้ได้ ต้องใช้หลักการของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือความพอเพียงในการดำเนินชีวิต ขณะที่ ครูวิภา พูดกับครูไกรวิทย์ว่า วันนี้ตนก็อยู่อย่างพอเพียง ซึ่งตนอยู่ในงานราชการ เมื่อมีการฟ้องล้มละลาย ก็จะขาดคุณสมบัติการปฏิบัติหน้าที่ ต้องออกจากราชการทันที และยังทีผลต่องานด้านอื่นด้วย ทั้งนี้ ครูทั้ง 2 ท่าน พูดตรงกันว่า "ด้วยความเป็นครู เราไม่มีสิทธิ์โกรธลูกศิษย์ ต่อให้เขาทำกับเราขนาดไหน เราก็โกรธไม่ลง มีแค่คำขอโทษมาคำเดียว เราก็ให้อภัยเขาไปไม่รู้กี่ครั้ง" ส่วนทางออกในการแก้ปัญหานี้ ครูเป็นผู้ประสบปัญหา จะมาหาทางออกแค่ 2 คน ก็คงไม่ได้ แต่ต้องเริ่มตั้งแต่เจ้าหนี้ ระบบต่าง ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องย้อนกลับไปดูว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน กยศ. ต้องไปพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งครูทั้ง 2 ท่าน ไม่เคยทราบยอดหนี้ของเด็ก ว่าเด็กแต่ละคนมีหนี้เท่าไร ไม่รู้ระยะเวลาที่ว่าเด็กขาดส่งชำระหนี้ ไม่มีแจ้งเตือนมาก่อน สุดท้ายแล้วภาระจะตกมาอยู่ที่คนค้ำประกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่มีหนังสือแจ้งเตือนมาก่อนเลย ทราบอีกครั้งเมื่อมีหมายศาลส่งมาที่บ้านแล้ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ